อดีตเลขา กกอ.เผย ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่ง คดีอดีต รมว.อว.สั่งปลดนายกฯ-กก.สภา ม.นครพนม ปี’63 ยกชุด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุไร้อำนาจออกคำสั่ง เตือน ‘ศุภมาส’ – ผู้บริหาร อว.ปัจจุบัน เร่งแก้ไขให้ถูกต้อง หากอุทธรณ์ต่อทำผิด ม.157 ชี้ ป.ป.ช.เดินหน้าสอบหลังศาลมีคำตัดสิน
เมื่อวันที่ 1 กันยายน ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีทางปกครอง คดีหมายเลขดำ ที่ บ.165/2563 และหมายเลขแดงที่ บ.181/2563 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกคำสั่งกระทรวง อว.ที่ 103/2563 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 สั่งให้ปลดนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยนครพนมในขณะนั้นให้พ้นจากตำแหน่ง คำสั่งดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการ อว.ไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าว จึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยให้มีผลย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563
“ผมดำรงตำแหน่งตั้งแต่สมัยก่อนนายกสภา และกรรมการสภาชุดที่ถูกปลด ผมทราบเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนที่เกิดเหตุแล้ว และได้แจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องว่าการออกคำสั่งเช่นนี้ผิด และทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีให้ปลดสภามหาวิทยาลัย หรือแต่งตั้งบุคคลเข้าไปปฏิบัติหน้าที่สภามหาวิทยาลัยได้ หากรัฐมนตรีออกคำสั่งเช่นนั้น รัฐมนตรีจะทำผิดกฎหมายทันที แต่ไม่มีใครเชื่อ ทำให้มีคำสั่งดังกล่าวออกมา ซึ่งได้สร้างความยุ่งยากให้เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่เกิดขึ้นมาแล้วจากผลของคำสั่งนี้ และที่คิดว่าต้องเกิดต่อไปอีกจากผลของคำพิพากษา ที่สำคัญคำพิพากษาเป็นการชี้ชัดว่ามีผู้กระทำผิดกฎหมายนับตั้งแต่รัฐมนตรีผู้ออกคำสั่ง และผู้ที่เกี่ยวข้องอีกหลายราย ซึ่งเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายอาญา อาจมีผลถึงต้องโทษจำคุก เพราะพร้อมๆ กับการร้องไปที่ศาลปกครองนั้น ได้มีการร้องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย และทราบว่าขณะนี้ ป.ป.ช.กำลังดำเนินการ โดยจะเอาคำพิพากษาไปประกอบการพิจารณาด้วย หาก ป.ป.ช.เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ คงจะลงเอยด้วยการฟ้องคดีอาญา” ศ.ดร.ภาวิชกล่าว
ศ.ดร.ภาวิชกล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าวมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย 1.เริ่มจากนายกสภาในขณะนั้น มีความขัดแย้งกับกรรมการสภาส่วนใหญ่ และฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย ได้ทำหนังสือถึง อว.ให้ใช้อำนาจรัฐมนตรีในการปลดตนเอง และกรรมการสภาของตนเอง ซึ่งเป็นการกระทำที่แปลกประหลาด ไม่เคยมีเกิดขึ้น 2.เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ อว.ที่ทำหน้าที่รวบรวม และวิเคราะห์คำร้องของนายกสภา โดยเจ้าหน้าที่ที่ควรจะเป็นผู้รู้กฎหมายดี กลับเสนอเห็นชอบให้รัฐมนตรีดำเนินการใช้อำนาจที่ผิดกฎหมาย 3.คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ที่ประชุมพิจารณาแล้วให้ความเห็นชอบตามที่นายกสภาเสนอ และเสนอต่อให้รัฐมนตรีออกคำสั่งดังกล่าว 4.เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ อว.เช่น ปลัด อว.ที่เป็นผู้เสนอขั้นสุดท้ายให้ และ 5. รัฐมนตรีว่าการ อว.ใช้อำนาจออกคำสั่ง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า บุคคลเหล่านี้ต่างเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่หากอ่านกฎหมายก็จะทราบได้ทันทีว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีในการปลดสภา และแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าไปทำหน้าที่แทน หากรัฐมนตรีออกคำสั่งเช่นนั้น จะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เข้าข่ายผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157
ศ.ดร.ภาวิชกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในคำสั่งดังกล่าวของรัฐมนตรี ได้อ้างการใช้อำนาจตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.อุดมศึกษา ในข้อเท็จจริง มาตราดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจนั้นไว้ ความตามมาตรานี้ระบุว่า หากปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยไปดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง รัฐมนตรีมีอำนาจเพียงแจ้งให้สภาสถาบันแก้ไขเสีย หรือหากแจ้งแล้วยังไม่มีการแก้ไข ก็ให้มีอำนาจเพียงสั่งให้หยุดการกระทำนั้นๆ และหากสั่งแล้วยังไม่หยุด รัฐมนตรีจะมีหน้าที่เพียงดำเนินคดีอาญากับสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ ดังนั้น การที่รัฐมนตรีออกคำสั่งปลดสภา จึงเป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซ้ำร้ายในการปลดนั้น ยังมีคำสั่งแต่งตั้งให้มีคณะบุคคลเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนสภาอีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้รัฐมนตรีไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งเช่นกัน “ความยุ่งยากที่เกิดติดตามมาก็คือ ปลดสภาออกไปแล้ว ซึ่งปลดโดยผิดกฎหมาย และยังตั้งคณะบุคคลเข้าไปทำหน้าที่สภาอีกด้วย ที่ตั้งโดยผิดกฎหมาย แต่คณะบุคคลนั้นได้เข้าไปทำหน้าที่ต่างๆ มากมายตามอำนาจหน้าที่ของสภา เช่น แต่งตั้งบุคคล อนุมัติปริญญาการสำเร็จการศึกษา ประเด็นคือเมื่อคณะบุคคลนี้มาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และศาลปกครองพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งนั้น หมายความว่าสิ่งที่คณะบุคคลได้ดำเนินการไปก็ผิดกฎหมายทั้งหมด ที่สำคัญ คณะบุคคลได้ไปดำเนินการสรรหานายกสภา และกรรมการสภาชุดใหม่ด้วย และได้ดำเนินการจนมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว แต่โดยนัยของกฎหมายคือ สภาที่ได้รับการสรรหามาใหม่นี้ ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย กลายเป็นความยุ่งยากที่คงต้องสางกันต่อไป” ศ.ดร.ภาวิชกล่าว
ศ.ดร.ภาวิชกล่าวว่า ตามคำพิพากษา เมื่อได้เพิกถอนคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการ อว.โดยให้มีผลย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง หมายความว่าคำสั่งนี้ไม่เคยมีตัวตน สภาชุดเดิมที่ตกเป็นเหยื่อของคำสั่งนี้ ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะกลับเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ต่อไป อาจมีข้อโต้แย้งว่าเมื่อวาระการดำรตำแหน่งของกรรมการสภามีเพียง 4 ปี ดังนั้น เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงขณะนี้แล้ว จะถือได้หรือไม่ว่ากรรมการสภาชุดนั้นหมดวาระไปแล้ว เรื่องอาจลงเอยได้โดยไม่ยุ่งยากนัก แต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เห็นว่าการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการสภานั้น เป็นการกำหนดเวลาการปฏิบัติหน้าที่เป็นจำนวนปี ไม่ใช่การกำหนดเวลาตามปฏิทินแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อกรรมการสภาได้ปฏิบัติหน้าที่มาระยะเวลาหนึ่ง แต่ต้องคำสั่งอันมิชอบด้วยกฎหมายทำให้ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไป เวลาในช่วงที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ย่อมนำมานับเป็นเวลาในการดำรงตำแหน่งไม่ได้ โดยเฉพาะหากการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมาย หมายความว่าคณะกรรมการสภาชุดเดิมจะต้องเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ และนับเวลาต่อมาจนกว่าจะหมดวาระตามกฎหมาย ฉะนั้น จะกลายเป็นว่ามหาวิทยาลัยนครพนมมีสภา 2 ชุด คือ ชุดเดิมที่ถูกปลดโดยมิชอบตามกฎหมาย ที่ยังคงมีเวลาในการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่ และชุดใหม่ที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่มีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จะทำอย่างไรต่อไป เป็นเงื่อนที่ อว.ได้ผูกไว้ และคงจะต้องหาทางแก้ แต่จะแก้อย่างไรก็ตาม ต้องทำให้ถูกกฎหมายก็แล้วกัน ไม่ใช่แก้แล้วยิ่งสร้างเงื่อนใหม่ผิดกฎหมายเพิ่มเติมอีก” ศ.ดร.ภาวิชกล่าว
ศ.ดร.ภาวิชกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจไม่ลงเอยง่ายๆ จบเพียงที่คำพิพากษาของศาลปกครองเท่านั้น เพราะขณะที่มีการร้องเรื่องนี้ต่อศาลปกครองนั้น ได้มีการร้องไปที่ ป.ป.ช.ด้วย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่ดำเนินการคดี โดยได้ขอคำฟ้องศาลปกครองจากผู้ร้องไปเพื่อประกอบการพิจารณา จะทำให้ได้ประเด็นที่ชัดเจนยิ่งขึ้น การพิจารณาในส่วนที่เหลือนี้คงเป็นไปได้โดยไม่ยาก และโดยเร็ว พอคาดการณ์ได้ว่าคำร้องที่ไปสู่ ป.ป.ช.นั้น เป็นการร้องการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 157 เมื่อคำพิพากษาออกมาเช่นนี้แล้ว จะมีหรือที่ ป.ป.ช.จะเห็นเป็นอย่างอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ที่ถูกพิพากษาให้จำคุกมาแล้วจากการโยกย้าย แต่งตั้ง หรือปลด โดยใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งมีผู้ถูกจำคุกไปตั้งแต่ระดับหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี
ศ.ดร.ภาวิชกล่าวอีกว่า ดังนั้น อยู่ที่ว่าผู้บริหาร อว.ชุดปัจจุบัน ตั้งแต่รัฐมนตรีผู้ใช้อำนาจเอง ลงมาถึงปลัด อว., กกอ.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะสางปัญหาที่สร้างขึ้นอย่างไร เพราะเป็นผู้บริหารชุดใหม่ นอกจากระดับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอของปัญหา ที่อาจใช้ยุทธวิธีซื้อเวลา โดยแนะนำผู้บริหาร อว.ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อทำให้ตัวเองรอดพ้น แต่อย่าลืมว่ากรณีนี้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยผิดกฎหมาย ที่รัฐมนตรีว่าการ อว.ในขณะนั้นกระทำ ดังนั้น หาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรี อว.คนปัจจุบันเห็นชอบให้ยื่นอุทธรณ์ ความหมายว่าเห็นด้วยกับการกระทำผิดกฎหมายของรัฐมนตรีคนที่ออกคำสั่ง ประเด็นนี้หากเข้าสู่การพิจารณาของ ป.ป.ช.จะกลายเป็นบุคคลทั้งหลายในชุดปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการ อว., ปลัด อว.หรือ กกอ.ต่างเห็นด้วยกับการทำผิดกฎหมายนี้กันทั้งหมด ซึ่งจะเข้าข่ายผิดมาตรา 157 ทั้งหมด “ขณะที่ออกคำสั่งนี้นั้น ผมได้ส่งข้อความไปแนะนำบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะบุคคลที่จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่สภา โดยผมชี้ประเด็นให้เห็นว่า เรื่องนี้ผิดกฎหมาย รัฐมนตรีใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ น่าจะยังแก้ไขทัน จึงอยากแนะนำว่าให้เข้าไปชี้แจงรัฐมนตรีว่าการ อว.ว่าคำสั่งดังกล่าวผิดกฎหมายอย่างไร และให้รัฐมนตรียกเลิกคำสั่ง ซึ่งน่าจะแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่ข้อความที่ผมส่งไปไม่ได้รับคำตอบใดๆ และเรื่องได้ดำเนินมาจนกลายเป็นความยุ่งยากที่คงแก้ไขได้ไม่ง่ายนัก เรื่องนี้แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่ง คือ อว.ได้ออกมาตรการ และได้เรียกร้องเสมอเพื่อให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล แต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าจุดหนึ่ง และเป็นจุดที่สำคัญมากที่มีความล้มเหลวของธรรมาภิบาล คือศูนย์กลางอำนาจ ได้แก่ อว. เอง” ศ.ดร.ภาวิช
กล่าว