สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันครบวาระในวันที่ 11 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา สำหรับที่มา สว.ชุดเก่านั้นที่มาของ สว.จำนวน 250 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง สว.โดยตำแหน่ง 6 คน : ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, กลุ่มที่สอง 50 คน : มาจากการเลือกกันเอง โดยให้ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการเลือก สว. โดยให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์หลายด้าน กลุ่มวิชาชีพ หรือกลุ่มผลประโยชน์ เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน, และกลุ่มที่สาม 194 คน : มาจากการสรรหาที่ คสช.แต่งตั้งจากผู้มีความรู้และประสบการณ์ เป็นกลางทางการเมือง 10 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่ง สว. จำนวนไม่เกิน 400 คน แล้วหลังจากนั้น คสช.คัดเหลือ 194 คน
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการทำหน้าที่ในวาระดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ว่า พอใจในผลงานระดับหนึ่ง แม้ในบางเรื่องสมาชิกวุฒิสภาจะเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็สามารถทำงานร่วมกันได้กับสมาชิกผู้มีความรู้ประสบการณ์ความสามารถ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากข้าราชการระดับสูง และไม่ค่อยได้แสดงความเห็น ทั้งนี้ ไม่ขอเปรียบเทียบการทำงานของวุฒิสภาชุดปัจจุบันและวุฒิสภาชุดใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ แต่ฝากว่าหากวุฒิสภาชุดใหม่ที่เข้ามาต้องยอมรับว่า มีที่มาจากการเลือกกันเอง และต้องตระหนักในการทำหน้าที่ สิ่งสำคัญจะต้องทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ อย่าถูกครอบงำจากผลประโยชน์หรือถูกครอบงำจากกลุ่มคนไม่ว่าฝ่ายใด จนทำให้เกิดความไม่เหมาะสมไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม ส่วนการถูกเรียกว่าเป็น สว. คสช. และเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2562 นั้น นายเสรี ระบุว่า ได้เข้ามาตามระบบ และมาตามคำถามพ่วงประชามติของประชาชน และมีการกำหนดอำนาจหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี ปฏิรูปประเทศตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
สำหรับผลการดำเนินงานของ “สว.250” ชุดเก่าที่หมดวาระไป มีหน้าที่อะไรบ้าง
1. พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
2. พิจารณากฎหมายต่อจาก สส. มีอำนาจยับยั้ง หรือแก้ไขร่างกฎหมาย
3. มีอำนาจร่วมลงชื่อเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยวาระปัญหาต่าง ๆ
4. ตั้งกระทู้ถาม รัฐมนตรี ได้เหมือน สส.
5. เปิดอภิปรายทั่วไปได้ (5 ปี เพิ่งจะอภิปรายไปเมื่อเดือนก่อน)
6. เห็นชอบองค์กรอิสระ
7. ที่เป็นอำนาจสำคัญและถูกวิจารณ์ที่สุด คือ ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
มาติดตามดูผลงานสว. ที่ผ่านมาวุฒิสมาชิกประชุมสรุปผลงานตลอดเวลา 5 ปี เป็นการประชุมนัดสุดท้ายของสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ช่วงท้ายการประชุม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา แจ้งผลการดำเนินงานของ สว.ชุดปัจจุบัน ตั้งแต่ 22 พ.ค.2562 – 9 เม.ย 2567 มีการประชุมไป 258 ครั้ง ใช้เวลา 1,579 ชั่วโมง 55 นาที พิจารณาร่างกฎหมาย 54 ฉบับ อนุมัติพระราชกำหนด 14 ฉบับ ตั้งกระทู้ถามรวม 588 กระทู้ เลือกหรือให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง 58 ครั้ง พิจารณารายงานการศึกษาของ กมธ. 363 เรื่องพิจารณารายงานประจำปีของหน่วยงานต่าง ๆ 225 เรื่องพิจารณาญัตติ 27 เรื่องติดตามความคืบหน้าปฏิรูปประเทศ/ยุทธศาสตร์ชาติ 24 เรื่องพิจารณาเรื่องร้องเรียนจริยธรรม สว. 2 ครั้ง
สำหรับที่มา สว. ชุดใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่มาของสมาชิกวุฒิสภาอีกครั้ง ซึ่งได้กำหนดให้มีจำนวนและที่มาของวุฒิสภาไว้เป็น 2 ช่วงเวลากล่าวคือ
ช่วงที่ 1 ให้เป็นไปตามบทเฉพาะกาล กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สช) ทั้งนี้ สว.ชุดแรกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
ช่วงที่ 2 เมื่อ สว.ชุดแรกตามบทเฉพาะกาลพ้นจากตำแหน่งแล้ว ให้วุฒิสภามีจำนวน 200 คน โดยมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม
โดยการแบ่งกลุ่มให้ประชาชนที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะส่งผลให้การทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลนี้น่าจะทำให้การปฏิรูปประเทศมีความต่อเนื่องและมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
เมื่อ สว.ชุดที่ 12 (ชุดปัจจุบัน) สิ้นสุดลง กกต.จะดำเนินการภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ กกต.กำหนดวันและเวลารับสมัคร และวันเลือก ระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ เพื่อเลือกไม่ช้ากว่า 30 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ประกาศกำหนดสถานที่รับสมัคร เปิดสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยมีระยะเวลารับสมัคร 5-7 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร
ขั้นตอนการเลือก สว.
ประกาศให้มีการเลือก สว. ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือก สว.ใช้บังคับ ให้ กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกระดับอำเภอ จังหวัด และ ประเทศ
การเลือก สว.ระดับอำเภอ วันเลือกระดับอำเภอ วันที่ 9 มิ.ย. 2567
การเลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับอำเภอ ภายใน 20 วัน นับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 5 คน) โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่ม จะเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้
การเลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น โดยที่ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้
การเลือก สว.ระดับจังหวัด วันเลือกระดับจังหวัด วันที่ 16 มิ.ย. 2567
การเลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับจังหวัด ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เลือกระดับอำเภอ ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 5 คน) โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่ม จะเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้
การเลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น โดยที่ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้
การเลือก สว.ระดับประเทศ วันเลือกระดับประเทศ วันที่ 26 มิ.ย. 2567
การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่เลือกระดับจังหวัด
การเลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-40 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 40 คน) โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน จะเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้
การเลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้ได้รับคะแนนลำดับที่ 1-10 เป็น สว. และลำดับที่ 11-15 อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น โดยที่ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละไม่เกิน 5 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้
ประกาศผลการเลือก สว.
เมื่อ กกต.ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศแล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้า กกต. เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้องสุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา
วุฒิสภาชุดใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ ต้องยอมรับว่า มีที่มาจากการเลือกกันเอง และต้องตระหนักในการทำหน้าที่ สิ่งสำคัญจะต้องทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ อย่าถูกครอบงำจากผลประโยชน์หรือถูกครอบงำจากกลุ่มคนไม่ว่าฝ่ายใด จนทำให้เกิดความไม่เหมาะสมไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม