รองศาสตราจารย์ ดร.ประมุข อุณหเลขกะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) เปิดเผยว่า การจัดประชุมวิชาการเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัย และผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์โมเดลเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการ ส่งผลต่อการพัฒนางานวิจัยที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคม ชุมชน และประเทศชาติให้เข้มแข็งมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่ง การประชุมวิชาการเป็นอีกหนึ่งภารกิจ ของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์และบุคลากรดำเนินการวิจัย เพื่อพัฒนาองค์กร เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ในการเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ด้านสังคมศาสตร์ การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมในสาขาวิชาต่าง ๆ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยระหว่างคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากงานวิจัยในวงกว้าง เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการ วิจัย นวัตกรรม และการบริการวิชาการ สร้างเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม สร้างสรรค์โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนานำพาประเทศก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วารุณี ศรีสงคราม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.สุวรรณภูมิ กล่าวว่า งานวิจัยและนวัตกรรมมีบทบาทและเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนำพาเศรษฐกิจไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG ด้วยโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วารุณี ศรีสงคราม กล่าวต่อว่า การประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งนี้ เป็นการเปิดเวทีให้คณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา บุคลากรในแวดวงวิชาการและวิจัย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม และเผยแพร่ผลงานการวิจัยและนวัตกรรม สู่สังคมภายนอก ตลอดจนเกิดเครือข่ายการวิจัยของนักวิจัย ในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพการวิจัยในสาขาต่าง ๆ ให้เกิดเป็นเวทีวิชาการระดับชาติ ที่รวบรวมผลงานด้านการวิจัยอันทรงคุณค่า
โดยรูปแบบของกิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ การนำเสนอผลงานภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ การจัดนิทรรศการผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม มหาวิทยาลัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดการประชุมวิชาการระดับชาติในครั้งนี้ จะเป็นอีกเวทีหนึ่งให้นักวิจัยจากทั่วประเทศได้แสดงผลงานที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์กับสังคมต่อไป ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 – 28 เมษายน พ.ศ.2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา