“อลงกรณ์”เดินลึกรุกพัฒนาเพชรบุรีคิกออฟ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนทุกตำบลเป็นจังหวัดแรกพร้อมผนึกศูนย์AICมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีร่วมขับเคลื่อนเขตส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมอาหาร”เพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ “และตั้งคณะกรรมการพัฒนาแบรนด์จังหวัดเพชรบุรีเพื่อส่งเสริมการสร้างแบรนด์ของสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งว่า วันนี้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะได้ลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ผศ. พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ดร.จุฑามาศ ทะแกล้วพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันเกลือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นางสาวศิริวรรณ เครือเล็ก เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี ร.ต.อาณัติ หุ่นหลา เกษตรจังหวัดเพชรบุรี และนายสันฑ์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี สำนักงานชลประทานที่ 14 นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ.พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม โดยในภาคเช้าเป็นการประชุมหารือและรับทราบผลการดำเนินงานของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ความเป็นเลิศเกลือทะเล ศูนย์ความเป็นเลิศเกษตรอินทรีย์ และโครงการฟู้ดวัลเลย์จังหวัดภาคกลางตอนล่างรวมทั้งความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีในการขับเคลื่อนโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์(Petchburi Food Valley) ภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตก(Western Economic Corridor)ซึ่งจะมีการนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กรกอ.)เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในเดือนตุลาคม และยังได้รับฟังรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ.จากเกษตรและสหกรณ์จังหวัดและส่วนราชการต่างๆโดยนายอลงกรณ์ได้แสดงความยินดีที่ศูนย์AICเพชรบุรีได้รับรางวัลศูนย์AICสมรรถสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศและชื่นชมผลการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ2565 ของหน่วยงานในสังกัดตลอดจนการขับเคลื่อนโครงการ”เพชรบุรีโมเดล”เพื่อเป็นต้นแบบตัวอย่างการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมแบบครบวงจรตั้งแต่การผลิตการแปรรูปและการตลาดทั้งออนไลน์ออฟไลน์และตลาดกลางสินค้าเกษตร
ทั้งนี้นายอลงกรณ์ได้ประกาศคิกออฟ โครงการสำคัญที่เป็นอีกคานงัดการปฏิรูปภาคเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ.เป็นครั้งแรกในวันนี้ที่จังหวัดเพชรบุรีได้แก่
โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล ภายใต้แนวคิด”บริหารโดยชุมชน เป็นของชุมชน และเพื่อชุมชน “โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนทุกตำบลของจังหวัดเพชรบุรีเรียบร้อยแล้วจะเป็นกลไกพัฒนาหมู่บ้านตำบลแบบบูรณาการทุกภาคส่วนตามแผนพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล
ควบคู่กับการเดินหน้าโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง “เพชรบุรีสีเขียว”(Green Petchburi) วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน โดยมีการวางโครงสร้างและระบบแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่เมืองและพื้นที่ชุมชนซึ่งทั้ง2โครงการขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งชาติ ซึ่งมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานและมีที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ.เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ.เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนครอบคลุม 77 จังหวัด
ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ.ยังแจ้งให้ทราบถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาแบรนด์จังหวัดเพชรบุรีเป็นชุดแรกเพื่อส่งเสริมการสร้างแบรนด์ของสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง
นอกจากนี้ยังได้หารือการเตรียมงาน “สร้างการรับรู้สู่เกษตรกรและการขับเคลื่อนงานแปลงใหญ่จังหวัดเพชรบุรี” และ “โครงการมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโคกระบือ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.มาเป็นประธานในวันที่15กันยายนที่จะถึงนี้
สำหรับช่วงบ่ายที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ.และคณะได้ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำของ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี สำนักงานชลประทานที่ 14 ในการขุดลอกผักตบชวาในคลองระบายน้ำ D25 พื้นที่ ต่อเนื่องตำบลช่องสะแก หมู่ที่ 6 ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม และพื้นที่ หมู่ที่ 2 ตำบลบางจาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี และตลองD.18เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ต่อจากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง ตำบลช่องสะแก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มีนายสุพจน์ กลิ่มพ่วง เป็นประธาน ดำเนินกิจกรรมปลูกผักเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษแบบยกแคร่ (ผักสลัด) และแบบโรงเรือนอัจฉริยะ ซึ่งเป็นต้นแบบงานวิจัยในพื้นที่ ได้รับงบประมาณและการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด มีกิจกรรมการแปรรูปอาหาร ข้าวเกรียบงาน้ำตาลโตนด กิมจิ (การแปรรูปกิมจิ ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอ อย.) การทำผักเคลผง (สำหรับโรยข้าว) และผักเคลคีโต ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการทำปุ๋ยชีวภาพ (ปุ๋ยโบกาฉิ ดินปลูกต้นไม้)
และการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดเพชรบุรี ( young smart farmer )ซึ่งมีการดำเนินกิจกรรม ไข่ไก่อารมณ์ดี ไข่ไก่ชน การขายทำตลาดออนไลน์ขายสินค้าผ่าน shopee Lazada เช่น ต้นตำแยแมวหรือกัญชาแมว ตู้ฟักไข่ไก่จากลังโฟม (ฟักไก่ชน) โคมไฟจากก้านตาลควบคุมการเปิดปิดด้วยสมาร์ทโฟน ฯลฯ เป็นการดำเนินกิจกรรมโดยใช้หลักตลาดนำการผลิต และมีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการมีพัฒนารถโมบายและร้านค้าชุมชน เพื่อจำหน่ายผลผลิตการเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค
สำหรับกิจกรรมสุดท้ายคือการตรวจเยี่ยมแปลงใหญ่ข้าว (หมู่ 2,8,10 ตำบลหนองขนาน หมู่ที่ 5 ตำบลหาดเจ้าสำราญ)อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่โดยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทุ่นแรง ซึ่งช่วยในการลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร รวมถึงการแปรรูป และเชื่อมโยงด้านการตลาดอีกด้วย
โดยนายอลงกรณ์ ได้กล่าวชื่นชมและให้กำลังใจในการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงตำบลช่องสะแก กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่(young smart farmer) ศูนย์เครือข่ายศพก.และกลุ่มนาแปลงใหญ่เพชรบุรี.