การสร้างกรอบแนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืนในเด็กนักเรียน
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (United Nations’ Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ได้ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2015 ครอบคลุมช่วงระยะเวลาที่ต้องบรรลุภายใน 15 ปี หรือปี ค.ศ. 2030 ที่จะถึงนี้ภายใต้พันธสัญญาที่เรียกว่า “Transforming Our World: the 2030 Agenda for Sustainable Development” หรือ “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” ซึ่งแปลว่าเราเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้นจำเป็นที่ประชากรของประเทศนั้นๆ จะต้องมีจิตสำนึกที่มุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่การที่จะสามารถเปลี่ยนจิตสำนึกของใครคนใดคนหนึ่งได้นั้น เป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะกับประชากรที่เป็นผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ผู้เขียนเห็นว่า รัฐบาลควรจะปลูกฝังการเป็นประชากรโลกในการสร้างจิตสำนึกต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในเด็กและเยาวชนมากกว่าที่จะเน้นนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกลุ่มผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ เพราะสามารถทำได้ง่ายกว่าและมีความสำคัญมากกว่า เนื่องจากเด็กและเยาวชนวันนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าที่จะต้องดำรงชีวิตในโลกใบนี้อีกยาวนานหลังปี 2030 แต่ยังมีเด็กและเยาวชนในประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจหรือแม้แต่รู้จักการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าคืออะไร และมีผลต่อตัวเองอย่างไร ในฐานะเยาวชนคนหนึ่งที่ได้ศึกษาเรื่องนี้ ผู้เขียนขอเสนอให้โรงเรียนหรือสถานศึกษามีบทบาทมากขึ้นต่อการสร้างจิตสำนึกในเด็กและเยาวชนต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสามารถดำเนินการได้ดังนี้
- ให้ความรู้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติให้ทั่วถึง โดยระบุเป็นเนื้อหาในวิชาสังคมศาสตร์
- ติดตั้งถังขยะ Recycle ในโรงเรียนอย่างทั่วถึง – เนื่องจากการเรียนรู้การคัดแยกขยะเป็นการสร้างจิตสำนึกเบื้องต้นต่อการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยติดตั้งถังขยะ Recycle ในพื้นที่ที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ใช้ชีวิต เช่น โรงหาร หรือลานกิจกรรม รวมทั้งประกาศให้การคัดแยกขยะเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของโรงเรียน นอกจากนี้ โรงเรียนอาจจัดตั้งอาสาสมัครนักเรียนให้ความรู้ในการจัดการคัดแยกขยะและส่งผ่านขยะไปสู่ประบวนการ Recycle ในวิชาสุขศึกษา (หรือ PE) ในทุกโรงเรียน
- ส่งเสริมให้นักเรียนประหยัดและไม่กินทิ้งกินขว้าง – นักเรียนควรมีการเรียนรู้ในเรื่องของผลเสียจากการกินทิ้งกินขว้าง โดยเฉพาะในมื้ออาหารกลางวันที่โรงเรียน เช่น เศษอาหารที่ถูกทิ้งหรือรับประทานไม่หมดจะส่งผลเสียต่อทรัพยากรต่างๆ อย่างไรบ้าง โดยโรงเรียนควรจัดตั้งระบบการจัดการอาหารกลางวันที่เหลือ เช่น จัดระบบการบริจาคอาหารกลางวันให้คนยากจนในพื้นที่นั้นๆ โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดการด้วย
- สนับสนุนการใช้ของมือสอง – โรงเรียนควรสอนให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการใช้สินค้ามือสอง และเรียนรู้ในการเข้าถึงตลาดสินค้ามือสอง เช่น การส่งผ่านหนังสือจากรุ่นพี่ไปสู่รุ่นน้อง หรือการใช้คอมพิวเตอร์มือสอง นอกจากนั้น ควรสอนให้นักเรียนรู้วิธีการดูแลรักษาสิ่งของให้สามารถใช้ได้นานๆ
- ใช้เทคโนโลยีดิจิตัลเป็นสื่อการสอน – การเปลี่ยนสื่อการสอนจากกระดาษผ่านสื่อดิจิตัลจะช่วยให้โรงเรียนลดการใช้กระดาษลงเป็นอย่างมาก แต่ต้องให้ความรู้ในการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิตัลกับนักเรียนเป็นอย่างดีควบคู่ไปด้วย
- ยกเลิกการใช้ขวดพลาสติกในโรงเรียน – โดยโรงเรียนสามารถติดตั้งเครื่องกดน้ำรอบๆ โรงเรียน และสนับสนุนให้นักเรียนแต่ละคนมีขวดน้ำของตัวเองที่เป็นวัสดุที่นำกลับมาใช้ได้อีกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสริมการสร้างอากาศที่มีคุณภาพ – โดยสนับสนุนให้นักเรียนให้ความสำคัญต่อการปลูกต้นไม้ และสร้างสภาพแวดล้อมสีเขียวเพื่อเพิ่มก๊าซออกซิเจนที่อาจจัดทำเป็นโครงการในคาบว่างหรือคาบกิจกรรมทดแทนการเล่น Social Media และส่งเสริมให้ผู้ปกครองสนับสนุนให้นักเรียนขี่จักรยานหรือเดินมาโรงเรียนในกรณีที่สามารถทำได้ เป็นต้น
โดยสรุป การสร้างจิตสำนึกของการพัฒนาที่ยั่งยืนควรเน้นการให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกแก่เด็กและเยาวชนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โรงเรียนควรเป็นสถานที่ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างจิตสำนึก เพราะนักเรียนอยู่ในโรงเรียนเป็นช่วงเวลายาวนานตั้งแต่ชั้นอนุบาล โดยโรงเรียนต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะจากกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ หรือกำหนดเป็นตัวชี้วัดในการประเมินโรงเรียนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ในความคิดเห็นของผู้เขียน หากเด็กและเยาวชนมีความเข้าใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นอย่างดี ครอบครัว ผู้ปกครอง และคนในสังคมก็จะมีแนวโน้มที่จะทำตามในอนาคต ทำให้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีความเป็นไปได้มากขึ้น ประเทศไทยในอีก 7 ปีหรือ 20 ปีก็จะมีความยั่งยืนกว่าในตอนนี้อย่างแน่นอน
ปังหวาน ผลพิรุฬห์
โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMIDS)
Pangwan221@gmail.com