“หยก” เด็กหญิงวัย 15 ปี ผู้ตั้งคำถามถึง “อนาคตทางการศึกษา”
ธนลภย์ ผลัญชัย หรือ “หยก” เด็กหญิงวัย 15 ปี ผู้ตั้งคำถามถึง “อนาคตทางการศึกษา” จากกรณี “หยก” ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อายุน้อยที่สุดเพียง 15 ปี ระบุว่าถูกโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ “ไล่ออก” จนเกิดเหตุชุลมุน หยก ปีนรั้ว-ยืนกรานจะเข้าเรียน ล่าสุดทางโรงเรียนชี้แจงยืนยันข้อมูลกับกระทรวงศึกษาธิการ”แต่นักเรียนไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ทำให้ไม่มีฐานข้อมูลในระบบ จึงไม่ได้เป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ในปีการศึกษา 2566″ แถลงการณ์ของโรงเรียน
ระบุปัญหาเกิดจากสัปดาห์ก่อน หยก ในชุดไปรเวทและผมที่ย้อมเป็นสีชมพู ไม่สามารถเดินเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ในฐานะ “นักเรียน” ได้ ยืนอยู่หน้าประตูรั้วเหล็กที่ปิดแน่นไม่ให้เธอผ่านเข้าไป แม้ระฆังเข้าเรียน จะดังขึ้นมาพักหนึ่งแล้ว ต่อมาไม่นาน อาจารย์หลายคนแง้มประตูเหล็ก ให้เด็กนักเรียนที่มาสายเข้าไป โดยมี หยก ยืนมองอยู่ไม่ไกล ผ่านไปไม่กี่นาที หยก ก็ตัดสินใจปีนรั้ว เข้าไปเรียนเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. เพื่อยืนกรานว่า เธอต้องได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรได้รับ ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย. หยกใช้วิธีลอบปีนหน้าต่างเข้าไป หยก มองว่าชุดนักเรียน มันเป็นอำนาจนิยมแบบหนึ่ง” เขา ต้องการใช้เวลา 3 ปี ในฐานะนักเรียนมัธยมปลาย ต่อสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจากในรั้วโรงเรียน
ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2566 ตัวเธอ ร่วมกับตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และสมาชิกพรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันส่งมอบ หยก เข้าเรียนตามกระบวนการ และ บุ้ง เป็นผู้เซ็นเอกสารมอบตัวเข้าเรียน ซึ่งในวันนั้น ทางโรงเรียนไม่มีปัญหาอะไร และ “ยินยอมให้มอบตัวเข้าเรียน” แต่ต่อมา วันที่ 9 มิ.ย. “ทางโรงเรียน ขู่ว่า ถ้าเอาพ่อแม่ของน้องมาไม่ได้ ก็ไล่ออก” บุ้ง ย้อนเหตุการณ์ที่ได้รับโทรศัพท์จากทางโรงเรียน โดยทางโรงเรียนให้เส้นตายว่า “ถ้าวันที่ 10 มิ.ย. เอาพ่อแม่หยกมาไม่ได้ จะถูกลบรายชื่อจากโรงเรียนไปเลย” ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงของทางโรงเรียน
จากกรณี “หยก” ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อายุน้อยที่สุดเพียง 15 ปี ถูกจับกุมพร้อมศิลปินอิสระที่พ่นสีข้อความบนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตามหมายจับจากคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มี นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้แจ้งความไว้ที่ สน.สำราญราษฎร์ หยก ได้แถลงต่อหน้าตำรวจและศาลว่าเธอไม่ยอมรับอำนาจกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการโดยตำรวจและศาล จึงไม่แต่งตั้งทนายเข้าร่วมสังฆกรรมใดๆกับกระบวนการ และขอร้องให้ผู้ปกครองไม่เข้าร่วมยอมรับอำนาจกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวไปพร้อมกับเธอโดยการไม่ต้องแสดงตัวต่อศาลและตำรวจ ไม่ตั้งทนายเข้าร่วมกระบวนการ ไม่ยื่นประกันตัว ได้ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม และยืนยันว่าศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ไม่ควรออกหมายจับเธอ นำไปสู่การควบคุมตัวหยกไว้ที่บ้านปรานี หรือ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี อ.สามพราน จ.นครปฐม ต่อมาได้ปล่อยตัวเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2566 หลังจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ยกคำร้องของพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฏร์ ที่ขอผัดฟ้อง หยก และให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป โดยถูกควบคุมตัวนาน 51 วัน