“สงครามอิสราเอล” และ แถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศกองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศประเด็นความไม่สงบในอิสราเอล
ช่วงเช้ามืดของวันที่ 7 ตุลาคม 2566 (ตามเวลาท้องถิ่น) กลุ่มฮามาส (Hamas) ในดินแดนปาเลสไตน์ ได้ยิงขีปนาวุธจาก “กาซา” ประมาณ 5,000 ลูก เข้าไปทางชายแดนตอนใต้ของอิสราเอล ทำให้เสียงสัญญาณเตือนภัยดังไปทั่วประเทศ นับเป็นการโจมตีครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ขณะที่นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ได้ออกมาประกาศ “ภาวะสงคราม” ทันที
ก่อนเกิดเหตุโจมตี ได้มีการจัดเทศกาลดนตรีเกี่ยวกับสันติภาพ บริเวณพื้นที่ทำการเกษตรแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของอิสราเอล ซึ่งในระหว่างที่นักท่องเที่ยวกำลังเต้นรำอย่างสนุกสนาน ก็มีกลุ่มฮามาสหลายสิบคนร่อนร่มพาราไกลด์ดิ้งลงมาใกล้กับบริเวณงาน และเข้าโจมตีเทศกาลดนตรีดังกล่าว ทำให้นักท่องเที่ยวพากันแตกตื่นและวิ่งหนีเอาตัวรอด กลุ่มฮามาสยิงสังหารและจับนักท่องเที่ยวเป็นตัวประกันมากมาย โดยมีคลิปวิดีโอหนึ่งถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ เป็นร่างไร้วิญญาณของนักท่องเที่ยวสัญชาติเยอรมัน ที่กลุ่มฮามาสอ้างว่าเป็นทหารอิสราเอล แต่แท้จริงแล้วเธอเป็นเพียงนักท่องเที่ยวธรรมดาที่ถูกกลุ่มฮามาสสังหารอย่างโหดเหี้ยม
ขณะที่กลุ่มฮามาสระดมยิงขีปนาวุธเข้าไปในอิสราเอล ก็เป็นการเปิดเส้นทางให้สมาชิกติดอาวุธสามารถแทรกซึมเข้าไปในอิสราเอลได้จากหลายทิศทาง บางส่วนเข้าไปในฉนวนกาซา จับประชาชนเป็นตัวประกันและสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยยอดผู้เสียชีวิตพุ่งกว่าพันราย อย่างไรก็ตาม วันที่ 7 ตุลาคม ถือเป็นวันสำคัญของศาสนายูดาย นั่นคือวัน “ซิมหัต โทราห์” วันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิว ที่ประชาชนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน ทำให้การโจมตีครั้งนี้นับเป็นการโจมตีที่รุนแรงที่สุดต่ออิสราเอลในรอบหลายปี
หลังเกิดเหตุการณ์กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล ทางการไทยก็ได้ออกมาเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้ระวังตัว โดยประเทศอิสราเอลถือเป็นจุดหมายปลายทางของแรงงานไทย ที่จะเข้าไปทำภาคการเกษตร โดยในช่วงแรกมีการส่งต่อข่าวและภาพถ่ายในโลกออนไลน์ ระบุว่ามีคนไทยถูกกลุ่มฮามาสจับไปเป็นตัวประกัน แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้
ที่ผ่านมา ภูมิธรรม เวชยชัน รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการณ์นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉิินจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ได้เปิดเผยว่า มีประชาชนไทยที่พำนักอยู่ในอิสราเอลประมาณ 30,000 คน และได้รับการรายงานว่าจากการโจมตีที่เกิดขึ้นนั้น มีคนไทยเสียชีวิตทั้งหมด 12 ราย โดยได้รับการยืนยันจากทางการอิสราเอลแล้ว 2 ราย ส่วนอีก 10 ราย ได้รับทราบข้อมูลจากนายจ้าง โดยยังไม่สามารถยืนยันชื่อได้ ทั้งยังต้องรอตรวจสอบจากการทางอิสราเอล นอกจากนี้ยังมีคนไทยได้รับบาดเจ็บ 8 ราย ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 2 ราย และมีคนไทยที่ถูกฮามาสลักพาตัวอีกทั้งหมด 11 ราย
หลังเกิดเหตุการณ์โจมตี เศรษฐา ทวีสิน นายหรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความลงบน X (เอ็กซ์) ประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาสในครั้งนี้ ระบุว่าเป็นการโจมตีที่ไร้มนุษยธรรมที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก พร้อมแสดงความเสียใจต่อรัฐบาลและประชาชนอิสราเอล ทั้งนี้ นายกฯ ยังระบุว่าได้สั่งการให้กองทัพอากาศเตรียมพร้อมเครื่อง Airbus A340 และ C-130 เพื่ออพยพคนไทยออกจากอิสราเอลทันที
การโพสต์ประณามของนายกฯ ในครั้งนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลไทย โดยประชาชนบางกลุ่มมองว่านายกฯ ไม่ควรใช้คำว่าประณาม ขณะที่ประชาชนไทยยังถูกจับเป็นตัวประกัน เพราะอาจทำให้กลุ่มฮามาสที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียไม่พอใจ และนำไปสู่ความรุนแรงต่อตัวประกันที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศถึง “การแก้แค้นครั้งใหญ่ให้กับวันอันชั่วร้ายนี้” หลังทางการอิสราเอลประกาศภาวะสงครามเมื่อวันอาทิตย์ หลังกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธของปาเลสไตน์ได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีเมื่อวันเสาร์ แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าอิสราเอลจะตอบโต้กลุ่มฮามาสอย่างไร แต่นี่จะเป็นการยกระดับความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ หน่วยงานสาธารณสุขในปาเลสไตน์ ได้รายงานว่ามีประชาชนในกาซาเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว กว่า 413 ราย และบาดเจ็บกว่า 2,300 ราย ขณะที่สถานีโทรทัศน์อิสราเอลระบุว่า กลุ่มฮามาสได้สังหารชาวอิสราเอลไปแล้วกว่า 1,000 คน และมีประชาชนอีกจำนวนมากที่โดนจับไปเป็นตัวประกัน
ตอนนี้มีสัญญาณความขัดแย้งขยายวงกว้างออกไปนอกฉนวนกาซา เมื่อกองทัพอิสราเอลปะทะกับกลุ่มติดอาวุธเฮซบอลเลาะห์ด้วยจรวดและปืนใหญ่ ขณะที่ในอียิปต์ มีรายงานนักท่องเที่ยวอิสราเอล 2 รายถูกยิงเสียชีวิตกับไกด์ชาวอียิปต์ ที่ฉนวนกาซา อับเดล-ลาติฟ อัล-กานูอา โฆษกของกลุ่มฮามาส กล่าวว่าการโจมตีดังกล่าวเป็น “เพื่อปกป้องประชาชนของเรา” โดยเสริมว่า นักรบของกลุ่มยังคงโจมตีด้วยจรวดต่อไป และยังคงปฏิบัติการอยู่เบื้องหลัง
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวกับนายกฯ อิสราเอลว่าความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อกองทัพอิสราเอลกำลังเดินทางไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ตามการเปิดเผยของทำเนียบขาวฝั่งกระทรวงกลาโหม ระบุว่าได้ส่งเรือและเครื่องบินรบเข้าไปประชิดใกล้อิสราเอลเพื่อแสดงการสนับสนุนอิสราเอล และว่ารัฐบาลวอชิงตันเชื่อว่าการโจมตีล่าสุดของกลุ่มฮามาสอาจมีแรงจูงใจที่จะขัดขวางการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและซาอุดีอาระเบียให้เป็นปกติ
การแถลงข่าวในประเด็นความไม่สงบในอิสราเอล โดยนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าว
นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้จัดการแถลงข่าวในประเด็นความไม่สงบในอิสราเอลวันละ ๒ ครั้ง เพื่อให้พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
1. พัฒนาการของสถานการณ์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ รายงานว่า สถานการณ์ในพื้นที่ยังคงรุนแรง มีการโจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง และฝ่ายรัฐบาลอิสราเอลได้พยายามกระชับพื้นที่ที่พลเรือนของทั้งสอง พลเรือนของทั้ง 2 ฝ่าย ต่างบาดเจ็บและเสียชีวิต และมีการยืนยันผู้ถูกจับตัวไปแล้วกว่า 100 คน ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอลประกาศให้ทั้งประเทศอยู่ในสถานการณ์พิเศษซึ่งส่งผลให้กองทัพมีอำนาจในการสั่งการด้านความปลอดภัยและปิดสถานที่ต่าง ๆ ของพลเรือนได้ตามความเหมาะสม รวมถึงวานนี้ กองทัพอิสราเอลประกาศอพยพพลเมืองทุกคนออกจากเมืองที่อยู่ใกล้พรมแดนฉนวนกาซาให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง
กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลได้จัดการประชุมร่วมกับคณะทูตานุทูตเพื่อรายงานสถานการณ์ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย โดยทางการอิสราเอลยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะอพยพ ซึ่งในชั้นนี้ น่านฟ้าอิสราเอลเปิดตามปกติ แม้จะมีเที่ยวบินลดลงประมาณร้อยละ 50 ซึ่งประชาชนสามารถเดินทางออกจากประเทศโดยเครื่องบินพาณิชย์ได้ แต่หากรัฐบาลใดประสงค์จะอพยพใช้เครื่องประเภทอื่นก็สามารถติดต่อกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลเพื่ออำนวยความสะดวก
2. ผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่ สอท. ณ กรุงเทลอาวีฟ รายงานวานนี้ว่า มีผู้บาดเจ็บ 8 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 11 ราย และได้รับรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมจากนายจ้าง รวมผู้เสียชีวิต 12 ราย อย่างไรก็ดี จำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางการอิสราเอล ทั้งนี้ กองทัพอิสราเอลเริ่มทยอยอพยพผู้คนแล้ว และขอความอนุเคราะห์ สอท.ฯ ช่วยอำนวยความสะดวกในการแปลเอกสาร/ประกาศที่เกี่ยวข้องจากภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาไทย เพื่อแจ้งเวียนให้กับทางชุมชนไทยทราบอย่างทั่วถึง ซึ่ง สอท.ฯ ได้ดำเนินการแล้ว
3. การดำเนินการของทางการไทย ในส่วนของเครื่องบินสำหรับอพยพคนไทย สอท.ฯ ได้แจ้งเวียนแบบฟอร์มแสดงความประสงค์ขออพยพออกจากอิสราเอลผ่านช่องทางต่าง ๆ แล้ว โดยเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2566 เวลา 21.00น. (เวลาท้องถิ่น) มีผู้แสดงความประสงค์กลับไทยแล้ว 1,099 คน และยืนยันจะพำนักในอิสราเอลต่อ 22 คน จากจำนวนแรงงานไทยในอิสราเอลประมาณ 3 หมื่นคน โดยพำนักบริเวณฉนวนกาซา 5 พันคน ดังนั้น คงยังมีการลงทะเบียนเข้ามาเพิ่มเติมเรื่องความปลอดภัยและสวัสดิการของพี่น้องชาวไทยเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุด ทั้งนี้ จะมีการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องทุกวันที่กระทรวงฯ เพื่อหารือแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพร้อมดำเนินการอย่างรวดเร็ว รวมถึงแผนการอพยพคนไทยออกจากอิสราเอล