“ดร.พิสิฐ” เสนอปรับลดสำนักนายก ให้มีการมัดรวมหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่สังกัดสำนักนายกฯ ตั้งเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
17 ส.ค. 2565 ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้แปรญัตติขอสงวนคำแปรญัตติใน มาตรา 7 ของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วว่า มาตรานี้มีความซ้ำซ้อน และมีการทำงานที่ไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งในตอนที่ตนอภิปรายในมาตรา 4 ได้ย้ำว่าระบบงบประมาณของเรามีวิกฤติ จำเป็นต้องมีการประหยัด และลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานลง ซึ่งในมาตรา 7 ของสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานแรกที่พิจารณาที่มีถึง 27 หน่วยรับงบประมาณ
พร้อมกับได้ยกตัวอย่างถึงสำนักคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่เมื่อดูที่ชื่อก็น่าจะสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อไปดูแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี ก็ทำให้นึกถึงงานของสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) จึงทำให้เกิดความสงสัยเรื่องความซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ตนจึงขอตัดงบประมาณ 2% เพื่อให้สำนักงานต่างๆ ได้ไปทบทวนภารกิจ อำนาจหน้าที่ เพื่อให้เกิดความกระชับ และจะได้มีงบประมาณเหลือให้กับงานใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
ดร.พิสิฐ กล่าวว่า หากดูที่ภารกิจของสำนักนายกฯ ซึ่งปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ 20 พ.ศ. 2564 จะเห็นว่าได้ระบุอำนาจหน้าที่ไว้อย่างกว้าง มีทั้งเรื่องการเงิน การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง การบริหารงานบุคคล กฎหมาย เป็นต้น ดังนั้นหากสำนักนายกฯ จะทำเป็นตัวอย่างเพื่อปักธงให้หน่วยงานภาครัฐได้ตระหนักว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องลดความซ้ำซ้อน และลดการทำงานที่ไม่ก่อประโยชน์เท่าที่ควร
นอกจากนี้ ดร.พิสิฐ ยังเสนอต่อไปว่า ในการแก้ไขปัญหาสำนักนายกฯ จากการที่มีหน่วยงานในสังกัดถึงกว่า 30 หน่วยงาน และมีขอบเขตงานกว้างขวาง จึงเห็นว่าน่าจะนำบางหน่วยงานมาอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งเป็นกระทรวงเศรษฐกิจขึ้น โดยเริ่มจากสภาพัฒน์ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานส่งเสริมการลงทุน และสำนักงบประมาณ จะพบว่า ตัวแปรที่หน่วยงานเหล่านี้ดูแล( เศรษฐกิจมหภาค การบริโภค การลงทุน และการใช้จ่ายของรัฐ)เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของอุปสงค์ของประเทศ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนจีดีพี ดังนั้นหากหน่วยงานเหล่านี้มาอยู่ภายใต้การบริหารของกระทรวงเศรษฐกิจที่ตั้งใหม่ ก็น่าจะเป็นโอกาสหนึ่งที่จะทำให้เราพลิกฟื้นการพัฒนาเศรษฐกิจได้ ให้จีดีพี ที่ขณะนี้โตช้าที่สุดในอาเซียน จะได้มีการทบทวนกันว่า จะต้องมีการปรับตัวแปรตัวไหน จะได้มีการประสานกันให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น
ดร.พิสิฐ กล่าวอีกว่า หน่วยงานสังกัดสำนักนายกฯ ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่สามารถนำมาจับรวมกับกระทรวงเศรษฐกิจเพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ที่ดูแลด้านปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้งเทคโนโลยี บุคลากร ที่ดิน และน้ำ องค์ประกอบเหล่านี้ควรต้องมีการประสานกัน จึงขอเสนอให้เราปรับลดขนาดของสำนักนายก ตัดทอนความซ้ำซ้อน และลดองค์กรให้มีความกระชับ โดยการแยกตัวออกมารวมเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ เพื่อตอบโจทย์ประเทศที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่ในขณะนี้ เพื่อให้ประเทศสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้