ประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ 2.0 มีหลายนโยบายที่จะต้องจับตามอง
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ 30 นาที ประกาศจุดเริ่มต้นของ “ยุคทองแห่งอเมริกา” พร้อมเปิดเผยนโยบายสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคง ปกป้องอธิปไตย และสร้างความสามัคคีในชาติที่จะผลักดันชาติไปสู่อนาคตที่รุ่งโรจน์และมั่งคั่ง
1. เริ่มต้นยุคทองของอเมริกา
ประเด็นด้านเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวประชาชน และยังเป็นประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะราคาสินค้าและที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยที่ดูเหมือนจะกำหนดความรู้สึกของประชาชน มากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและอัตราการว่างงานที่ต่ำ
– ยืนยันการฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองและศักดิ์ศรีของอเมริกา
– ประกาศให้อเมริกาเป็นที่หนึ่งในทุกด้าน
2. ฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของรัฐบาล
– ยุติการใช้รัฐบาลเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม
– ฟื้นฟูความยุติธรรมและความซื่อสัตย์ในระบบการปกครอง
3. นโยบายด้านเศรษฐกิจและพลังงาน
ด้านพลังงานแห่งชาติเพื่อลดราคาพลังงานในสหรัฐ ด้วยการเพิ่มการขุดเจาะน้ำมัน วางท่อน้ำมัน และตั้งโรงกลั่นน้ำมัน ดำเนินการดังนี้
– ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
– สนับสนุนการผลิตพลังงานในประเทศ เช่น น้ำมันและก๊าซ
– ยกเลิกนโยบาย Green New Deal และข้อบังคับยานยนต์ไฟฟ้า
4. การจัดการด้านความมั่นคงและชายแดน
การจัดการด้านความมั่นคงและชายแดนด้านใต้สหรัฐ และส่งกำลังทหารเข้าปกป้องชายแดนเพื่อสกัดการลักลอบเข้าเมืองจากเม็กซิโก และสหรัฐจะทำการเนรเทศอาชญากรต่างชาติกลับประเทศ ดำเนินการดังนี้
– ประกาศภาวะฉุกเฉินที่ชายแดนใต้ ยุติการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ส่งคืนผู้กระทำผิดต่างชาติ และตั้งทหารประจำชายแดน
– ระบุแก๊งอาชญากรและเครือข่ายอาชญากรรมต่างชาติว่าเป็นภัยคุกคามสำคัญ
5. ฟื้นฟูระบบทหารและการศึกษา
– ยุตินโยบายบังคับฉีดวัคซีนโควิดในกองทัพ พร้อมจ่ายเงินย้อนหลังให้ทหารที่ถูกปลด
– ปรับปรุงระบบการศึกษาให้ส่งเสริมความรักชาติและความสามารถ
6. ความสามัคคีและการสร้างสันติภาพ
– ประกาศว่าอเมริกาจะเป็นผู้นำในการสร้างความสงบสุขระดับโลก
– ส่งเสริมนโยบายที่เน้นความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ
7. การปฏิรูประบบการค้าและการเก็บรายได้
– จัดตั้งหน่วยงาน “External Revenue Service” เพื่อเก็บรายได้จากภาษีศุลกากร
– ใช้นโยบายการค้าเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้ประชาชน
8. วิสัยทัศน์ระยะยาวและเป้าหมายแห่งอนาคต
– ส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคารและฟื้นฟูอุตสาหกรรมภายในประเทศ
– เน้นย้ำบทบาทของอเมริกาในฐานะชาติผู้นำที่ทรงพลัง
9. คำมั่นสัญญาต่อประชาชน
– ประกาศว่าชัยชนะครั้งนี้เป็นของประชาชน พร้อมขอบคุณผู้สนับสนุนจากทุกเชื้อชาติและวัย
– สร้างความหวังให้กับคนรุ่นใหม่และย้ำว่าความฝันแบบอเมริกันจะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่
10. จุดยืนส่วนตัวของทรัมป์
– กล่าวถึงความท้าทายที่ผ่านมา รวมถึงความพยายามลอบสังหาร
– มุ่งมั่นทำให้อเมริกา “ยิ่งใหญ่กว่าที่เคย”
ส.อ.ท.จับตานโยบายทรัมป์ 2.0 แนะไทยเร่งหาตลาดใหม่ ลดพึ่งพาสหรัฐ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนาโต๊ะกลม Geopolitics 2025 หัวข้อ “Trump 2.0: The Global Shake Up” จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า การกลับมาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยที่ 2 หรือ ทรัมป์ 2.0 มีหลายนโยบายที่จะต้องจับตามอง ว่าจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างไร ได้แก่
1.นโยบาย Reshoring ซึ่งเป็นดึงการลงทุนกลับเข้าสหรัฐ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ โดยจะมีการใช้กลไกภาษีในการจูงใจนักลงทุน ด้วยการลดอัตราภาษีนิติบุคคลจากเดิม 21% เหลือ 15%
โดยการส่งเสริมและขยายการลงทุนขุดเจาะน้ำมัน ตามคำกล่าวในสุนทรพจน์ของทรัมป์ว่า “Drill, Baby Drill” รวมทั้งการขุดเจาะ Shale Gas และ Shale Oil ที่เคยถูกยุติการผลิตไปในช่วงของประธานาธิบดีไบเดน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) เพื่อเป็นการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนกลับเข้าไปในสหรัฐมากที่สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบกับหลายอุตสาหกรรมของไทย จากเดิมที่ต้องพึ่งพาการส่งออก จะต้องมีการปรับยุทธศาสตร์เป็นการออกไปลงทุนในสหรัฐ
2.การขึ้นภาษีนำเข้า (Tariff) 10-20% ขณะที่ตั้งกำแพงสินค้าจากจีน 60-100% ส่วนกลุ่มประเทศ Near Shoring หรือกลุ่มที่ย้ายฐานการผลิตมาตั้งอยู่ใกล้กับสหรัฐ เช่น แคนาดา เม็กซิโก จะถูกจับตามองและถูกตั้งกำแพงภาษีสูงขึ้น โดยจะมีการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้น ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าของการขึ้นภาษีดังกล่าว เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐกว่า 17% ของการส่งออกทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ไทยโดนตั้งข้อสงสัยเรื่องการบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulation) และทำให้ค่าเงินบาทถูกบังคับให้แข็งค่า เพื่อเป็นข้อต่อรองในการเจรจาแบบทวิภาคี
ทั้งนี้ ไทยต้องเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อลดพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐ และหาตลาดใหม่นอกจากอาเซียนด้วย โดยการเร่งเจรจา FTA กับหลายประเทศ ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งการปฏิรูปกฎหมาย โดยเฉพาะด้านการค้า เนื่องจากกฎหมายที่ล้าสมัยจะเป็นอุปสรรคอย่างร้ายแรงในการดึงดูดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ
ปธ.หอค้าไทย ชงรัฐ ดึงเอกชน ร่วมทีมเจรจา รับมือผลกระทบทรัมป์ 2.0
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และ หอการค้าไทย กล่าวถึงนโยบายทรัมป์ 2.0 ว่า ทั้งรัฐบาลและธุรกิจเอกชนไทย ตกเป็นเป้าหมายของมาตรการทางการค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะในยุคทรัมป์ 2.0 ที่มุ่งลดการขาดดุลกับประเทศคู่ค้า หอการค้าไทย จึงเสนอให้ภาคเอกชน เป็นตัวแทนในทีมเจรจาที่รัฐบาลจัดตั้งเพื่อรับมือผลกระทบต่างๆ เพราะเอกชนเป็นผู้ที่อยู่ในสนามการค้าโดยตรง มีข้อมูลเชิงลึก สามารถสะท้อนปัญหาที่แท้จริงให้รัฐบาลใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนรับมือ พร้อมเจรจาต่อรองในสินค้าอื่นด้วย
ทั้งนี้ จากการพิจารณามาตรการของสหรัฐฯ ทีมเจรจาควรให้ความสำคัญกับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับสหรัฐ และส่วนหนึ่งก็มีผลต่อตัวเลขการส่งออกทางอ้อมของไทย อีกทั้ง ทีมเจรจาควรจะมีการพิจารณาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างสมดุลทางการค้าและลดความเสี่ยงจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)