มติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 “เศรษฐา ทวีสิน” ขาดคุณสมบัติพ้นนายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีทั้งคณะ กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรมต.สำนักนายกฯบทเรียนสำคัญสำหรับการเมืองไทย
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 “เศรษฐา ทวีสิน” ขาดคุณสมบัติพ้นนายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีทั้งคณะ กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรมต.สำนักนายกฯ
ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ ดังนี้ เรื่อง ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 17/2567) สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2 ) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2 เคยถูกศาลฎีกาสั่ง จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ต่อมาผู้ถูกร้องที่ 2 ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2 สำหรับกรณีของผู้ถูกร้องที่ 1 มีคำสั่งรับไว้พิจารณาวินิจฉัย ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงและเอกสารหลักฐานของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคำแถลงการณ์ปิดคดีของคู่กรณีรวมไว้ในสำนวน และเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
ผลการพิจารณา
พิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตามคำปรารภที่ว่า รัฐธรรมนูญนี้วางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ จึงบัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพิ่มเติมจากลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ผู้ถูกร้องที่ 1 กล่าวอ้างว่าตนมีภูมิหลังจากการประกอบธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัด ไม่มีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ จึงไม่อาจวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็น
ผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหารทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมืองจึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำ ประกอบกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจต่อสาธารณชนนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดในลักษณะภาวะวิสัยข้อเท็จจริงปรากฏในคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 ที่วินิจฉัยว่า เสมียนทนายความที่ทำงานประสานงานให้ผู้ถูกร้องที่ 2 นำถุงกระดาษใส่เงินสดมอบให้เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกาโดยที่รู้หรือควรรู้ว่าภายในถุงกระดาษดังกล่าวมีเงินสดอยู่ และผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าวด้วยในลักษณะเป็นตัวการร่วม โดยมีเจตนาจูงใจให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ที่อาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2550 ซึ่งเป็นลูกความของผู้ถูกร้องที่ 2 การกระทำดังกล่าวเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) และมาตรา 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือ ความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน สั่งลงโทษผู้ถูกร้องที่ 2 ฐานละเมิดอำนาจศาล ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไป และสภาทนายความ เห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ถูกลงโทษในคดีละเมิดอำนาจศาลตามคำสั่งศาลฎีกาข้างต้น เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล ทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษาและกระทบต่อความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมไทย เป็นการกระทำผิดตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 6 และข้อ 18 ให้ลบชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 กับผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องออกจากทะเบียนทนายความ ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังคงเสนอให้แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 27 เม.ย.2567 ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4)
การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ต่าง ๆ ของผู้ถูกร้องที่ 2 ดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องที่ ๒ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ย่อมเป็นกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 หมวด 1 ข้อ 8 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งข้อ 27 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ด้วยศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต่อไป
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 5 คน คือ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ เห็นว่า ความเป็น รัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5)
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 4 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายนภดล เทพพิทักษ์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ เห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรี ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5)
จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ กรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีะรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีทั้งนี้ หากกระบวนการทางการเมืองนำไปสู่การยุบสภา จะส่งผลให้มีการเลือกใหม่ แต่ถ้าเลือกแนวทางไม่ยุบสภา จะส่งผลสภาผู้แทนราษฎร ต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามบัญชี
สำหรับบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งปัจจุบันมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวม 7 คน ดังนี้
พรรคเพื่อไทย
1.นางสาวแพทองธาร ชินวัตร อายุ 38 ปี
2. นายชัยเกษม นิติสิริ อายุ 76 ปี
พรรคภูมิใจไทย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล อายุ 57 ปี
พรรคพลังประชารัฐ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อายุ 79 ปี
พรรครวมไทยสร้างชาติ
1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (องคมนตรี) อายุ 70 ปี
2.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อายุ 65 ปี
พรรคประชาธิปัตย์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศษฏ์ อายุ 68 ปี
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุนสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรมนูญ ส่งผลให้นายกเศรษฐาพื้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งตามไปด้วยทั้งคณะนั้น ในช่วงเย็นวันเดียวกันหลังทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์ เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคเข้าหารือด่วนที่บ้านจันทร์ส่องหล้า
สำหรับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อม สส.ของพรรค ร่วมแถลงถึงท่าทีของพรรคภูมิใจไทยต่อการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ นายอนุทินกล่าวว่ามติของพรรคเรามีคือ พรรคภูมิใจไทยในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลยินดีสนับสนุนบุคคลที่มีในรายชื่อนายกฯ หรือแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ให้เป็นนายกฯคนต่อไป ซึ่งจะเป็นสิทธิของพรรคเพื่อไทยที่จะเสนอบุคคลที่พรรคเพื่อไทยเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีการประชุมในวันที่ 16 สิงหาคมและขอให้ประชาชนมั่นใจว่าพรรคเราและจุดยืนของพรรคที่ว่า พรรคภูมิใจไทยไม่สนับสนุนพรรคการเมือง หรือไม่สนับสนุนบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่มีนโยบายที่จะแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งสิ่งเรานี้เป็นเจตนารมณ์ของพรรคเรา และเป็นข้อตกลงเดิมของพรรคร่วมรัฐบาลที่เคยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่แล้ว ทั้งนี้ พรรคเราได้พบปะกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งทุกพรรคก็ได้มีความเห็นตรงกัน และเพื่อความชัดเจน พรรคเราก็จะได้มีการขอให้จัดแถลงร่วมพรรคร่วมรัฐบาลและให้พรรคเพื่อไทยได้ยืนยันจุดยืนนี้ร่วมกันอีกครั้ง
ทางด้าน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รักษาการรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พร้อมด้วยสมาชิกพรรค ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุมพรรค กล่าวว่า จุดยืนของพรรคขอสนับสนุนให้แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ อย่างไรก็ตาม พรรครวมไทยสร้างชาติยังยืนยันว่าต้องไม่มีนโยบายที่จะแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่วนกระแสข่าวที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี กลับมาเป็นนายกฯ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่กลับมา เพราะเป็นองคมนตรีแล้ว อย่าเอาข่าวแบบนี้มาทำให้มีปัญหา เพราะองคมนตรีไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อีกทั้งตามมารยาทแล้ว พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแต่แรก ก็ต้องให้สิทธิกับพรรคแกนนำรัฐบาลก่อน ทั้งนี้ การทำงานของรัฐบาลยังคงต่อเนื่อง เพียงแค่เปลี่ยนตัวนายกฯ เท่านั้น โดยโควตาของรัฐมนตรีเท่าที่ทราบมา ทุกพรรคก็ทำงานต่อเหมือนเดิม ส่วนความพึงพอใจนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติก็พอใจการทำงานที่ผ่านมา ทางพรรคพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเลตของพรรคเพื่อไทยต่อใช่หรือไม่ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ในเรื่องของนโยบายยังยึดเช่นเดิม แม้ว่าก่อนหน้านี้พรรครวมไทยสร้างชาติจะกังวลว่านโยบายนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จนกระทั่งมีการชี้แจงจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการคลังว่าสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้ชี้แจงว่าจะมีปัญหาหรือทำต่อไปได้หรือไม่
ปฏิกิริยาสื่อต่างประเทศหลายสำนักพร้อมใจกันรายงานหลังจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี รวมถึงให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สิ้นสุดลงทั้งคณะ ดังนี้
สำนักข่าว CNN รายงานว่า นายเศรษฐา ถูกปลดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากศาลตัดสินว่าเขาละเมิดจริยธรรมด้วยการแต่งตั้งบุคคลที่เคยต้องโทษจำคุกเป็นรัฐมนตรี CNN ระบุอีกว่า คำตัดสินดังกล่าวสร้างความตกตะลึงให้กับหลายคน และจะทำให้การเมืองในประเทศไทยเกิดความไม่แน่นอนมากขึ้น คำตัดสินดังกล่าวหมายถึงความปั่นป่วนในภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยที่ปั่นป่วนอยู่แล้ว ซึ่งผู้ที่พยายามผลักดันการเปลี่ยนแปลงมักจะขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่ทรงพลังซึ่งประกอบด้วยเหล่าทหาร และชนชั้นสูงทางธุรกิจ
สำนักข่าว Reuters รายงานว่าพรรคเพื่อไทยเจองานหนักจากความวุ่นวายของประเทศไทยมาโดยตลอด โดยมีรัฐบาล 2 รัฐบาลถูกโค่นอำนาจจากการรัฐประหารในความขัดแย้ง การตัดสินใจครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการสงบศึกอันเปราะบางระหว่าง นายทักษิณ ชินวัตร นักการเมืองรุ่นใหญ่ และศัตรูของเขาในกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมและทหารรุ่นเก่า ซึ่งการสงบศึกได้ทำให้ตัวพ่อการเมืองรายนี้กลับมาจากการลี้ภัยได้สำเร็จ รอยเตอร์ระบุอีกว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเศรษฐกิจไทยที่เศรษฐาพยายามอย่างหนักเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไทยเจอทั้งการส่งออกและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนแอ หนี้ครัวเรือนที่สูงลิ่ว และธุรกิจขนาดเล็กกว่าล้านแห่งไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ นายเศรษฐา เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 4 ในรอบ 16 ปีที่ถูกศาลรัฐธธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นการปลดนายเศรษฐา หลังดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่ถึงปี และหลังจากนี้รัฐสภาจะต้องประชุมเพื่อเลือกผู้นำคนใหม่
สำนักข่าว AP รายงานอ้างมติศาลรัฐธรรมนูญ 5 ต่อ 4 เสียง วินิจฉัยให้นายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งผู้นำของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การเมืองของไทยปั่นป่วนมากขึ้น ทั้งนี้คำตัดสินดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 1 สัปดาห์หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค “ก้าวไกล” ที่เป็นฝ่ายค้าน
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า การเมืองในประเทศไทยจะกลับเข้าสู่ความวุ่นวายอีกครั้ง หลังศาลมีคำพิพากษาให้ถอดถอนนายกฯ เศรษฐา ออกจากตำแหน่ง โดยช่วงหนึ่งของการอ่านคำพิพากษาระบุว่า นายเศรษฐาได้กระทำการละเมิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ถูกตัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากแต่งตั้งทนายความที่เคยถูกจำคุกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
สำนักข่าว BBC ระบุว่า คำตัดสินดังกล่าวส่งสัญญาณถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับประเทศที่เกิดการรัฐประหารหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 เมื่อกองทัพเข้ายึดอำนาจ BBC เขียนในทำนองเดียวกับ AP ว่า นายเศรษฐาได้เป็นนายกรัฐมนตรีแม้ว่าพรรคเพื่อไทยของเขาจะไม่ได้ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยบรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้มอบชัยชนะอันน่าตกตะลึงให้กับพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคปฏิรูปน้องใหม่ แต่พรรคนี้ถูกขัดขวางไม่ให้จัดตั้งรัฐบาลโดยวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยกองทัพ จากนั้นเพื่อไทยก็บรรลุข้อตกลงกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ทำให้พรรคก้าวไกลต้องหยุดชะงัก และนายเศรษฐาก็เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำพรรค
สำนักข่าว Nikkei Asia ซึ่งเป็นสื่อสายหุ้นและเศรษฐกิจ รายงานข่าวถอดถอนเศรษฐา ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายกฯ เศรษฐา ออกจากตำแหน่ง” และบอกว่า “คำพิพากษาสร้างความวุ่นวายทางการเมือง บั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อเศรษฐกิจ” Nikkei Asia ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาถอดถอนนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากกระทำผิดรัฐธรรมนูญกรณีแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวน่าจะทำให้การเมืองของไทยกลับมาวุ่นวายอีกครั้งในรอบ 1 ปี คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สิ้นสุดและไม่สามารถอุทธรณ์ได้ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เมื่อพรรคเพื่อไทยของเขาฟื้นตัวจากความวุ่นวายหลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดปัจจุบัน ยุติการปกครองภายใต้การปกครองของทหารที่กินเวลานานถึง 9 ปีได้ คำตัดสินของศาลอาจสร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจที่ตอนนี้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและความต่อเนื่องของนโยบาย รวมถึงการแจกเงินดิจิทัลและการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย
การสิ้นสุดวาระของรัฐบาลชุดนี้ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น
กล่าวโดยสรุป มติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 “เศรษฐา ทวีสิน” ขาดคุณสมบัติพ้นนายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีทั้งคณะ กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรมต.สำนักนายกฯ ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการเมืองไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเข้มงวด และผลกระทบของความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองต่อการพัฒนาประเทศ