สำนักงานอัยการสูงสุด แถลงศาลอาญาประทับรับฟ้อง “ทักษิณ ชินวัตร” คดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว ได้รับการประกันตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
วันนี้ (18 มิ.ย.2567) นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลง ตามที่งานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2567 ว่านายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ต.ค.2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา3, 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 นั้น
วันนี้ เวลา 08.56 น.นายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด ให้เป็นผู้รับผิดชอบคดีได้ส่งฟ้อง นายทักษิณ ต่อศาลอาญา ตามข้อกล่าวหาดังกล่าวข้างต้นเรียบร้อยแล้ว โดยศาลประทับรับฟ้องไว้ตามหมายเลขคดีดำที่ อ.1860/2567 ซึ่งบัดนี้คดีได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลอาญาแล้วหากมีผลคืบหน้าทางคดีสำนักงานอัยการสูงสุดจะแจ้งให้ทราบต่อไป
นายประยุทธ กล่าวว่า มี 2 แนวทางถ้านายทักษิณ มาพบพนักงานอัยการจะนำตัวไปศาล หรือถ้าสะดวกก็ไปรอที่ศาลได้ การทำแบบนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญในการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานอัยการ ถ้าตราบใดถ้าศาลไม่ได้รับตัว และการประทับรับฟ้อง ถือว่าเขาอยู่ในเงื่อนปล่อยตัวชั่วคราว แต่เงื่อนไขสำคัญคือเวลาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องศาลต้องมีตัว
“ คดีม.112 ถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวนหรือชั้นพนักงานอัยการ จึงเป็นการฟ้องส่งตัวไม่ใช้ฟ้องเบิกตัว แต่กรณีของนายทักษิณ เป็นการฟ้องส่งตัว เพราะได้รับการปล่อยตัวมาตั้งแต่ชั้ยอัยการ” ต่อมาผู้สื่อข่าวถามกรณีเทียบกับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 รายอื่น นายประยุทธกล่าวว่า ตามหลักกฎหมายเมื่อบุคคลใดก็ตามถูกกล่าวหาทางคดีอาญาในชั้นสอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ หรือแม้กระทั่งชั้นพิจารณาของศาล มี รธน ทุกฉบับสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาเป็นที่สุดว่าเขาผิด ดังนั้น กระบวนการปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็น 1 ในเงื่อนไขกระบวนการรองรับบทสันนิษฐานรัฐธรรมนูญ เมื่อเขายังบริสุทธิ์ก็ต้องให้เขาสู้คดีให้เต็มที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ภายใต้บริบท ไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่ทำให้เสียหายต่อความยุติธรรม ไม่หนี
สำหรับผู้ที่ต้องคดีมาตรา 112 รายอื่น ๆ ให้ดูเรื่องต่อเรื่อง หมายความว่าถ้ารายไหนได้รับการปล่อยชั่วคราว จะเป็นแบบนี้เสมอ แต่ถ้ารายไหนไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อาจเป็นเพราะไม่มีหลักประกันที่จะไปขอประกันจากชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือ ชั้นศาล ตัวจะถูกควบคุมไว้ภายใต้เงื่อนไขของ ม.87