นายปานปรีคย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนกาตาร์และอียิปต์ และติดตามสถานการณ์ อิสราเอล กับกลุ่มฮามาส
วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องแถลงข่าว รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเยือนกาตาร์และอียิปต์ ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2566 โดยได้พบกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่าง ๆ รวม 4 ท่าน ได้แก่ (1) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ (2) รัฐมนตรีแห่งรัฐกาตาร์ ซึ่งดูแลเรื่องการให้ความช่วยเหลือตัวประกัน (3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนกาตาร์พอดี ที่กรุงโดฮา กาตาร์ และ (4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ ที่กรุงไคโร อียิปต์ ทั้งสามประเทศ (กาตาร์ อิหร่าน และอียิปต์) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยและมีช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มฮามาสได้ อีกทั้งแสดงท่าทีที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือไทยอย่างเต็มที่ ประเด็นที่ได้มีการหารือ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงและขอให้ช่วยสื่อสารข้อมูลให้กับกลุ่มฮามาสว่า แรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย และมาทำงานเพื่อสนับสนุนครอบครัวที่ประเทศไทย จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น
รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้รับทราบว่า กลุ่มฮามาสที่จับตัวประกันไปไม่ได้มีกลุ่มเดียวและมีอย่างน้อยสองกลุ่มขึ้นไป ดังนั้น อาจต้องมีการเจรจากับหลายกลุ่มเพื่อให้มีการปล่อยตัวประกันโดยเร็ว ได้ขอรับการสนับสนุนจากทั้งสามประเทศให้มีการผลักดันและช่วยเจรจาให้มีการปล่อยตัวคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันโดยเร็วที่สุด ซึ่งทั้งสามประเทศรับจะดำเนินการถ่ายทอดข้อความแสดงความประสงค์ของไทยให้ในทันที และขอให้ไทยสนับสนุนให้มีการหยุดยิงอย่างรวดเร็วอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะเป็นโอกาสทำให้ตัวประกันได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้น ทั้งนี้ ฝ่ายกาตาร์เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ปลอดภัยและสามารถปล่อยตัวประกันได้ คนไทยจะได้รับการปล่อยตัวเป็นกลุ่มแรก ๆ ขณะที่ฝ่ายอิหร่าน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับกลุ่มฮามาส รับจะช่วยเจรจาให้มีการปล่อยตัวประกันคนไทยโดยเร็ว ในส่วนของฝ่ายอียิปต์ ซึ่งได้พบหารือทั้งอย่างเป็นทางการและอาหารกลางวันด้วย ทำให้มีโอกาสได้หารือกันเป็นระยะเวลานานเกี่ยวกับช่องทางในการสื่อสารให้มีการปล่อยตัวประกันโดยเร็ว เมื่อมีความคืบหน้าในการปล่อยตัวประกัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขอให้ทั้งสามประเทศแจ้งให้เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศต่าง ๆ ทราบในทันที เพื่อให้สถานเอกอัครราชทูตในพื้นที่ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งได้แจ้งกับฝ่ายอียิปต์ซึ่งมีชายแดนติดกับกาซาว่า หากมีการปล่อยตัวบริเวณจุดผ่านแดนราฟาห์ ขอให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร/ผู้แทนรัฐบาลไทย สามารถเดินทางเข้าไปรับตัวประกันในบริเวณชายแดนได้ทันที ซึ่งฝ่ายอียิปต์รับทราบและพร้อมอำนวยความสะดวก ขอบคุณความพยายามจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และกลุ่มต่าง ๆ ที่ช่วยกันประสานเครือข่ายที่รู้จักและเกี่ยวข้องในการผลักดันเพื่อให้มีการปล่อยตัวประกันโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวในประเด็นการดำเนินการช่วยเหลือคนไทยที่เมืองเล้าก์ก่าย เมียนมา ว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้ประสานงานกับทางการเมียนมาอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลคนไทยจำนวน 162 คน ซึ่งขณะนี้ ได้รับการช่วยเหลือจากทางการเมียนมาให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว และอยู่ระหว่างรอกระบวนการส่งตัวกลับประเทศไทย รวมถึงช่วยเหลือคนไทยที่ยังอาจอยู่ในพื้นที่เพิ่มเติม
สำหรับสถานการณ์ ล่าสุดสำนักข่าวกรองของเลบานอน รายงานว่า ช่วงค่ำที่ผ่านมา (5 พ.ย.2566) ตามเวลาท้องถิ่น กองทัพอิสราเอลยังโจมตีในเขตกาซาอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศ โดยตลอดทั้งคืนมีแสงไฟสว่างวาบจากการโจมตีขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้อิสราเอลโจมตีทั้งโรงพยาบาล และค่ายผู้อพยพหลายแห่ง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลก โดยยอดเสียชีวิตในกาซาเพิ่มเป็น 9,700 คน
ด้านกลุ่มฮามาส ประกาศว่า อิสราเอลจะต้องชดใช้ที่ก่ออาชญากรรมกับพลเรือน ขณะที่โฆษกของกองทัพอิสราเอล แถลงว่า ปฏิบัติการโจมตีในฝั่งเลบานอนเป็นไปตามข้อมูลข่าวกรอง และอิสราเอลจะเดินหน้าโจมตีต่อไป ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเลบานอนจะตรวจสอบเพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียด
ล่าสุดโฆษกกองทัพอิสราเอล แถลงพร้อมเผยแพร่เอกสารที่ระบุว่า กลุ่มฮามาสสร้างเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งเป็นทั้งศูนย์บัญชาการและฐานยิงจรวด อยู่ใกล้กับโรงพยาบาล สะท้อนว่ากลุ่มฮามาสจงใจใช้โรงพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงคราม โดยหลักฐานที่นำมาแสดงในครั้งนี้ มีทั้งคลิปวิดีโอ ภาพถ่าย และเสียงการสนทนา