ความช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล
ประเด็นสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลโดยนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์ในอิสราเอล ดังนี้
1. พัฒนาการของสถานการณ์ พลเรือนอิสราเอลเสียชีวิตอย่างน้อย 700 คนบาดเจ็บอีกประมาณ 2,150 คน และทางการอิสราเอลได้ออกมายืนยันแล้วว่ามีผู้ถูกจับตัวไปอย่างน้อย 100 คน ซึ่งรวมถึงคนชาติ ต่าง ๆ
2. ผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่ คนไทยเสียชีวิต 12 คน ซึ่งยังรอทางการอิสราเอลยืนยันข้อมูล บาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก 1 คน รวมเป็น 9 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 11 คน
3. การดำเนินการของทางการไทย ที่ประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉิน (RRC) ได้ประชุมหารือกันถึงแนวทางการเตรียมการอพยพ โดยขณะนี้มีคนไทยในอิสราเอลแสดงความประสงค์ขออพยพกลับประเทศไทยแล้ว 1,437 คน (สถานะเมื่อ 09.00 น. เวลาท้องถิ่นอิสราเอล) และผู้ประสงค์จะไม่กลับจำนวน 23 คน และเมื่อคืนวานนี้ ทางการอิสราเอลได้ช่วยอพยพคนไทยบางส่วนในพื้นที่เสี่ยงมายังพื้นที่ปลอดภัย
กองทัพอากาศและการบินไทยได้จัดเตรียมเครื่องบินและเจ้าหน้าที่ในการดำเนินภารกิจแล้ว โดย สอท. ณ กรุงเทลอาวีฟ กำลังจัดหาเที่ยวบินพาณิชย์เพื่อนำคนไทยออกจากประเทศก่อน เช่น ผู้บาดเจ็บที่เดินทางได้ หรือผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือออกมาจากพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว โดยในเบื้องต้นคาดว่า จะจัดให้คนไทยกลุ่มแรก 15 คนออกจากอิสราเอลได้วันที่ 11 ตุลาคม 2566 มีกำหนดเดินทางถึงไทยวันที่ 12 ตุลาคม 2566 สำหรับตัวประกัน กระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้ สอท. ในประเทศที่เกี่ยวข้องติดต่อกระทรวงการต่างประเทศของประเทศนั้น ๆ เพื่อขอรับการสนับสนุนให้มีการปล่อยตัวพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ในการนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้พบกับทูตปาเลสไตน์เพื่อแจ้งความห่วงกังวลของไทย และขอให้สนับสนุนการดำเนินการเพื่อปล่อยพลเรือนที่ถูกจับกุมไป ซึ่งท่านทูตปาเลสไตน์รับจะช่วยประสานให้ต่อไปนักศึกษาไทยจำนวน 80 คน ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อันตรายและได้รับแจ้งว่า ปลอดภัยดี เมื่อคนไทยเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงสาธารณสุข จะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การช่วยเหลือเยียวยาทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งขณะนี้ หน่วยงานทั้งสองได้เดินทางไปเยี่ยมญาติของผู้ได้รับผลกระทบในภูมิลำเนาแล้ว
รมช.ต่างประเทศ ยืนยันว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการทุกวิถีทางในการเข้าไปช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล ทั้งเครื่องบินเช่าเหมาลำ เครื่องบินพาณิชย์ หรือเครื่องบินจากกองทัพ โดยในขณะนี้สามารถนำเครื่องลงที่สนามบินในอิสราเอลได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าความรุนแรงของสถานการณ์ ได้เริ่มขยายวงใกล้สนามบินมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มความระวัดระวัง พร้อมกับได้เจรจากับประเทศรอบๆ อิสราเอลไว้แล้ว หากเกิดกรณีจำเป็นต้องนำเครื่องบินของไทยไปลงจอด
สำนักข่าวอัลจาซีราเปิดเผยข้อมูลจากคณะกรรมการคุ้มครองนักข่าว (CPJ) ระบุว่า มีนักข่าว 6 รายอยู่ในหมู่พลเรือนที่ถูกสังหาร บาดเจ็บ หรือสูญหาย ในเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (7 ต.ค.) นักข่าวชาวปาเลสไตน์ 3 คนถูกยิงเสียชีวิตขณะรายงานข่าวดังนี้ อิบราฮิม โมฮัมหมัด ลาฟี ช่างภาพของสำนักข่าว Ain Media ซึ่งเสียชีวิตที่จุดผ่านแดนเอเรซ ใกล้ชายแดนทางตอนเหนือของฉนวนกาซา, โมฮัมหมัด จาร์กูน ผู้สื่อข่าว Smart Media ถูกสังหารทางตะวันออกของเมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา และโมฮัมหมัด เอล-ซาฮี นักข่าวอิสระ ถูกยิงเสียชีวิตบนชายแดนทางตะวันออกของอัล-บูเรจ ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาตอนกลาง
นอกจากนี้ อิบราฮิม กานัน ผู้สื่อข่าวช่อง Al Ghad ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดกระสุนในเมืองคาน ยูนิส ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ขณะเดียวกัน ช่างภาพชาวปาเลสไตน์ 2 คน ได้แก่ นิดัล อัล-วาฮิ จากช่อง Al Najah และไฮทัม อับเดล วะฮีด จากสำนักข่าว Ain Media ได้หายตัวไปตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา