นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คอนเฟิร์มแล้ว กลับไทย 10 สิงหาคม
จากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊งค์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ Ing Shinawatra พร้อมระบุข้อความถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และในฐานะบิดา สรุปใจความว่า “เนื่องในวันเกิดว่า 26 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญของลูกเสมอ แต่ปีนี้ลูกยังไม่อยากเชื่อตัวเอง ในสิ่งที่ลูกกำลังจะพิมพ์ พ่อจะกลับมาแล้ว วันที่ 10 สิงหาคมนี้ ที่สนามบินดอนเมือง” ทำให้โซเชียลมีเดียแห่คอมเมนท์ใต้โพสต์และแชร์โพสต์ดังกล่าวอย่างล้นหลาม สร้างความฮือฮาให้สถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้เป็นอย่างมาก ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกระแสข่าวทางตำรวจมีการซักซ้อมกรณีนายทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ว่า เป็นธรรมดาในฐานะที่ตนเองเป็นผู้กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากนายทักษิณมีการประกาศเองว่าจะกลับมาในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงก่อนวันเกิด ที่ตอนนี้ใกล้จะถึงวันเกิดแต่ก็ยังไม่มีข่าวอะไรคืบหน้า แต่เชื่อว่าหากกลับมาเมื่อไหร่ก็คงจะติดต่อมา และเราก็จะได้ดำเนินการตามกระบวนการตามขั้นตอน ซึ่งเป็นธรรมดาหากกลับมาเกี่ยวพันกับตำรวจและกรมราชทัณฑ์ ซึ่งแน่นอนว่าผู้เกี่ยวข้องก็ต้องเตรียมการในส่วนของตนเอง
ล่าสุดได้รับการเปิดเผยจาก นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมของกรมราชทัณฑ์ ในกรณีการรับตัวนายทักษิณ ภายหลังเดินทางกลับเข้าประเทศไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ว่า เบื้องต้น คาดว่าเมื่อคุณทักษิณเดินทางกลับเข้าประเทศไทยโดยลงที่สนามบินดอนเมือง ขั้นตอนแรกจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่จะรับตัวและทำบันทึกการจับกุมต่างๆ ตามขั้นตอน ขณะที่ในส่วนของกรมราชทัณฑ์จะต้องว่าไปตามหมายศาล โดยรอดูว่าจะมีคำสั่งหรือหมายศาลคดีใดแจ้งมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะได้เดินทางไปยังเขตพื้นที่ของศาลนั้นๆ จากนั้นเมื่อคุณทักษิณเข้าสู่ขั้นตอนของศาลเสร็จสิ้น หากเป็นคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวคุณทักษิณมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ ณ ขณะนี้ทางราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับหมายศาลใดๆ
อย่างไรก็ตาม คุณทักษิณถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ หากเจ้าตัวมีโรคประจำตัวที่จะต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ทางราชทัณฑ์จะมีแพทย์ประจำเรือนจำฯ ที่จะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการจำแนกผู้ต้องขังโดยจะนำตัวไปยังห้องกักโรคของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทำการกักโรคเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ประมาณ 10 วัน ถัดไปจึงเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค ย้ายไปยังหอผู้ป่วย คล้ายกรณีของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ กรอบระยะเวลาของการรักษาโรคไม่ได้มีกำหนดไว้ จะเป็นในส่วนของแพทย์ประจำเรือนจำที่จะเป็นผู้ประเมินอาการของผู้ต้องขัง และให้ความเห็นเรื่องการรักษาว่าในระหว่างกระบวนการดังกล่าว เจ้าตัวควรแก่การเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาแล้วหรือไม่ อย่างไร แต่ทั้งนี้ขั้นตอนการดูแลรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวก แต่หากนอกเวลาราชการ ก็จะทำการส่งตัวไว้ที่สถานคุมตัวพิเศษ ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ถนนวิภาวดีก่อน และจะย้ายตัวไปศาลฏีกาในเวลาราชการ จากนั้นสถานที่สุดท้ายคือนำตัวไปส่งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร