พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมจ่ายหนี้ 2 หมื่นล้านบาท ให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ขณะนี้เป็นเรื่องที่ทาง กทม. พยายามจะหาแนวทาง ที่จะดูแลเรื่องนี้อยู่ หลังจากที่ได้มีการทำเรื่อง มาถึง ครม.แต่ ครม.คงไม่สามารถจะพิจารณาได้ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คงจะต้องรอรัฐบาลใหม่ ซึ่งปัญหาหลัก คือ จะทำวิธีใดก็ได้แต่ติดปัญหาเรื่องหนี้สินที่มี จะใช้งบประมาณจากที่ใด กทม. ก็คงไม่มี เมื่อไม่มีก็เหลือหนทางที่จะทำได้ ก็คือให้เอกชนทำ แต่ก็เข้าคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP ซึ่งก็ต้องรออีกหลายปีกว่าจะเป็นสมบัติของกทม.ก็ในปี 2573 ถึงจะเริ่มใช้ได้ อันนั้นระหว่างนี้หนี้สินในแต่ละปีจะใช้เงินเท่าไหร่ ก็เหลือทางออกทางเดียวคือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะพิจารณาตอนนี้ภาระหนักจึงตกที่บริษัทฯ เพราะยังต้องเดินรถ ให้บริการประชาชน ขณะเดียวกัน กทม.ก็ยังไม่มีความสามารถที่จะจ่ายเรื่องหนี้สิน แต่ก็คิดว่าจะต้องมีการหาทางแก้ไขอยู่แล้ว
ก่อนหน้านี้นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ทำหนังสือถึง มท.เพื่อเสนอ ครม. ให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ที่รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถือว่าเป็นหนี้รัฐบาลมูลหนี้เกือบ 60,000 ล้านบาท ส่วนค่าติดตั้งระบบ และค่าจ้างเดินรถ รถไฟฟ้า กทม.เป็นหนี้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (บีทีเอสซี) ราวๆ 40,000 ล้านบาท ซึ่งหนี้ทั้ง 2 ตัวนี้ก็จะอยู่ในส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการขยายสัมปทานให้เอกชน เรื่องยังค้างอยู่ที่ มท. ที่จะต้องเสนอให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ คาดว่าต้องรอรัฐบาลชุดใหม่
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่สนับสนุนในส่วนค่าติดตั้งระบบ กทม.ต้องจ่ายเอง แต่ก่อนจะจ่าย ต้องนำเรื่องเข้าสู่สภา กทม.เพื่อขอความเห็นชอบ เพราะปัจจุบันเป็นเพียงบันทึกมอบหมายไม่ได้เป็นสัญญาจ้าง ดังนั้นการนำเงินออกมาใช้ต้องขอสภา กทม.เพื่อให้สภา กทม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถรถไฟฟ้า ยังไม่เสนอขอสภา กทม. เนื่องจากเป็นคดีความฟ้องร้อง และอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล.