การออกแบบแพ็กเกจจิงมีความสำคัญต่อการขายสินค้าแทบทุกชนิดในโลก เพราะแพ็กเกจจิงที่ดี ย่อมสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกเห็น และกระตุ้นให้ผู้บริโภค รู้สึกอยากได้สินค้าที่ซ่อนอยู่ภายในซึ่งหากจะพูดถึงประเทศที่เก่งเรื่องการออกแบบแพ็กเกจจิง ก็คงหนีไม่พ้นประเทศ “ญี่ปุ่น” อย่างแน่นอนเห็นได้จากการออกแบบแพ็กเกจจิงของประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ใช่แค่มีความสวยงาม แต่ยังสามารถตอบสนองความต้องการในการใช้งานได้เป็นอย่างดีด้วยรวมถึงมีรายละเอียดในการออกแบบที่ซ่อนอยู่ในทุกจุด จนอาจเรียกได้ว่า แพ็กเกจจิงของประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียง “หีบห่อ” ภายนอก แต่ทำหน้าที่เป็นเหมือน “งานศิลป์” สวย ๆ ชิ้นหนึ่ง เลยก็ว่าได้หากจะยกตัวอย่างการออกแบบแพ็กเกจจิง ที่มีความโดดเด่น ของประเทศญี่ปุ่น ก็อย่างเช่น
– แพ็กเกจจิงข้าวปั้นห่อสาหร่าย ที่เมื่อแกะออกมาแล้ว สาหร่ายจะห่อข้าวอย่างสมบูรณ์ โดยไม่เปื้อนมือ
– แพ็กเกจจิงพุดดิ้ง ที่เทออกมาได้อย่างง่ายดาย แค่ออกแรงกดที่ก้นถ้วยเพียงเล็กน้อย
– แพ็กเกจจิงซอสปรุงรส ที่ออกแบบมาเป็นขวดสุญญากาศ เพื่อรักษาคุณภาพของซอสปรุงรสที่อยู่ภายใน แม้จะมีการเปิดฝาแล้วก็ตาม ซึ่งสาเหตุที่ทำให้แพ็กเกจจิงของประเทศญี่ปุ่น ไม่เหมือนที่อื่น ๆ ในโลก ก็เป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีความคิดว่า แพ็กเกจจิง ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ “ห่อหุ้ม” ตัวสินค้าที่อยู่ภายในเท่านั้นแต่แพ็กเกจจิง เป็นสิ่งที่มอบคุณค่า และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ให้กับผู้บริโภคเรียกได้ว่า คนญี่ปุ่นมี “แนวคิด” ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบแพ็กเกจจิง เป็นอย่างมาก นั่นเองซึ่งแนวคิดในการออกแบบแพ็กเกจจิง ที่คนญี่ปุ่นยึดถือนั้น แบ่งออกเป็นหลายข้อด้วยกัน ได้แก่
1. ให้ความใส่ใจกับ “ประสบการณ์” ของผู้บริโภค โดยเฉพาะการใช้แพ็กเกจจิง เป็นเครื่องมือในการสร้าง First Impression ที่ดี ตั้งแต่แรกเห็นและสัมผัส โดยเฉพาะการ “แกะ” แพ็กเกจจิง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามที่มากเกินไป ไม่ต้องใช้กรรไกร ไม่ต้องฉีกด้วยมือ จนแพ็กเกจจิงที่มีความสวยงาม กลายเป็นเพียงเศษขยะทำให้คนญี่ปุ่น มีนิสัยแกะแพ็กเกจจิงด้วยความระมัดระวัง และการแกะแพ็กเกจจิงกลายเป็น “ประสบการณ์” ที่คนญี่ปุ่น คาดหวังจากการซื้อสินค้า จนเป็นเรื่องปกติ
2. ใช้ “ธรรมชาติ” เป็นต้นแบบด้วยการออกแบบแพ็กเกจจิง ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น กระดาษ ผ้า หรือไม้ไผ่ รวมถึงออกแบบแพ็กเกจจิง โดยใช้แนวคิดจากรูปทรงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยอยู่แล้ว
3. ใช้หลักการ “ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง” การออกแบบแพ็กเกจจิงที่ดี แค่ความสวยงามยังไม่พอ แต่ต้อง “ใช้งาน” ได้ดี ได้สะดวกด้วยซึ่งการใช้งานที่ว่านี้ หมายรวมถึงผู้บริโภคซึ่งเป็นคนทั่วไป และผู้บริโภคที่มีความบกพร่องในด้านต่าง ๆ เช่น ผู้พิการทางสายตา เพื่อที่พวกเขาจะได้รับความสะดวกสบายไม่ต่างจากคนอื่น ๆเช่น กล่องนม ที่ทำรอยบากไว้ที่สันกล่องด้านบน เพื่อแยกชนิดของนม ที่แตกต่างกันหรือการทำปุ่มนูนที่แพ็กเกจจิงของครีมนวดผม เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างครีมนวดผม และแชมพูสระผมออกจากกันด้วยการใช้การสัมผัส โดยไม่จำเป็นต้องใช้สายตามอง เป็นต้น
4. ออกแบบแพ็กเกจจิงให้ “สวยงามและโดดเด่น” และข้อสุดท้าย ก็คือ ความสวยงาม ที่สำคัญไม่แพ้กัน แม้ว่าแพ็กเกจจิงที่ได้ยกตัวอย่างไปข้างต้น ล้วนแล้วแต่เป็นแพ็กเกจจิงที่ออกแบบมาเพื่อเน้น “ประโยชน์ใช้สอย” มากกว่าความสวยงามแต่ในความจริงแล้ว ความสวยงามก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลย เพราะความสวยงาม เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความแตกต่าง เพิ่มความโดดเด่นให้กับตัวสินค้า ที่วางรวมกันอยู่บนชั้นวาง ท่ามกลางสินค้าหลากหลายแบรนด์ ซึ่งแพ็กเกจจิงที่สวยงามหรือโดดเด่น จะสามารถช่วยดึงดูดสายตาของผู้บริโภค และทำให้จดจำสินค้าของแบรนด์ได้มากขึ้น
ดังนั้น เราจึงมักเห็นแบรนด์ญี่ปุ่นหลาย ๆ แบรนด์ ออกสินค้าเฉพาะฤดูกาล ที่ใช้แพ็กเกจจิงแบบพิเศษ เล่นลวดลายต่าง ๆ อย่างสวยงาม อยู่บ่อยๆหรือแม้แต่การตั้งใจออกแบบแพ็กเกจจิง ที่เมื่อนำมาวางเรียงกันแล้ว กลายเป็นรูปภาพ ซึ่งสื่อถึงเรื่องราวต่างๆ ได้เมื่ออ่านมาจนถึงจุดนี้ หลาย ๆ คนอาจสังเกตว่า แพ็กเกจจิงของสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มมีการนำเอาแนวคิดการออกแบบ ของประเทศญี่ปุ่น ไปใช้กันบ้างแล้วแต่ก็ต้องยอมรับว่า เมื่อพูดถึงการออกแบบแพ็กเกจจิง ที่มีความสวยงาม แปลกใหม่ และมีประโยชน์ใช้สอยที่ดีก็คงต้องนึกถึง “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศแรก อย่างแน่นอน
ขอขอบคุณที่มาข้อมูล https://www.marketthink.co/41399