นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงว่า ลงนามเอ็มโอยู (MOU) ของแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล โดยมีทาง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยอีก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 313 เสียง ประกอบไปด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ และ พรรคเพื่อไทรวมพลัง ณ โรงแรมคอนราด กทม.
ในขณะเดียวกันการลงนาม MOU ทั้ง 23 ข้อ หลายๆ เรื่อง เป็นเรื่องของการนิติบัญญัติ โดยเฉพาะกฎหมาย 45 ฉบับ ที่เราได้สัญญากับประชาชนไว้ว่า เราจะผลักดัน เนื่องจากเรามี ส.ส. 152 คน สามารถที่จะผลักดันกฎหมายเพื่อให้เกิดการถกเถียง ผ่านสภาให้ออกมาเป็นกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในวาระร่วมของพรรคจัดตั้งรัฐบาล แต่มีกฎหมายหลายฉบับที่เราสามารถผลักดันเข้าไปและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับพี่น้องประชาชนได้จริง ดังนั้นย้ำอีกครั้งว่า การลงนาม MOU ทั้ง 23 ข้อ เป็นวาระร่วมแค่ขั้นต่ำ ที่ประชาชนจะคาดหวังว่าทำได้เร็วเพราะมีแนวร่วม แต่ในขณะเดียวกันหลายประเด็นที่อาจทำให้พี่น้องประชาชนลำบาก และต้องการเปลี่ยนแปลงผ่านกฎหมายที่ก้าวหน้าหรือผ่านการบริหารงานของรัฐบาล ก็ยังมีวาระเฉพาะที่สามารถผลักดันได้เช่นเดียวกัน
นายพิธา กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปหลังการลงนามใน MOU น่าจะเป็นการเดินสายพบกับกลุ่มพี่น้องประชาชนมากกว่า ซึ่งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลก็ไม่ได้มีแต่พรรคก้าวไกล แต่ยังมีพรรคอื่นไปกับเราด้วย จากนี้จะเชิญพรรคร่วมมารับฟังให้มากขึ้นว่า นโยบายของพวกเราที่รวมกันเป็น MOU เมื่อคุยกับคนที่ได้รับผลกระทบ เรารับฟังและอธิบายกับเขาอย่างรอบคอบ ก็น่าจะเป็นขั้นตอนต่อไป เพราะเราต้องทำนโยบายร่วมในการแถลงต่อรัฐสภาต่อไป รับประกันว่าจะต้องเอาคนที่เหมาะสมกับงาน มีความรู้จริงกับกระทรวงนั้นๆ มาทำหน้าที่ในการบริหารแน่นอน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้อธิบายไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลให้กับ ครม.รับฟังว่าไทม์ไลน์ที่พูดวันนี้เป็นไทม์ไลน์อย่างเร็ว เปลี่ยนได้ทุกวัน แต่ไม่มีทางเร็วกว่านี้ โดยวันที่ 13 ก.ค. จะเป็นวันสุดท้ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับรองผลเลือกตั้ง หากเกิดความล่าช้าคงเกิดจากการร้องเรียน โดยหลังจากนี้ ครม.จะพิจารณาพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาฯ และวันที่ 20 ก.ค. จะเป็นวันสุดท้ายที่ให้ส.ส.รายงานตัว จากนั้นวันที่ 24 ก.ค. จะมีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา วันที่ 25 ก.ค.จะมีการเลือกประธานสภาฯ วันที่ 26 ก.ค. จะมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานสภาฯ ก่อนที่วันที่ 3 ส.ค. จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะที่วันที่ 10 ส.ค. มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และวันที่ 11 ส.ค. จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ซึ่งเป็นการทำงานวันสุดท้ายของคณะรัฐมนตรีรักษาการ