ตั้งแต่ช่วงเช้า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากหลายพรรคการเมืองต่างเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตที่พัก อาทิ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย (พ.ท.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.), พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล (ก.ก.)
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตั้งเป้าหมายว่าจะมีประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 80% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52,287,045 คน และ ประเมินว่าภายใน 6 ชม. หลังปิดหีบเลือกตั้ง จะสามารถประกาศผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้
สำหรับในการเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อ 7 พ.ค. ตามการเปิดเผยข้อมูลของสำนักงาน กกต. พบว่าประชาชนแห่มาใช้สิทธิจำนวนมาก จากผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิทั้งในและนอกเขตเลือกตั้งกว่า 2.3 ล้านคน ในจำนวนนี้ เฉพาะผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้ในและนอกเขตมีจำนวนกว่า 91.83% ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมด
การเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค 2566 มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งจากระบบจัดสรรปันส่วนผสม และมีเลือกตั้งใบเดียวเมื่อปี 2562 มาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกการตัดสินใจเลือกระหว่าง “คนที่รัก” บัตรสีม่วง กับ “พรรคที่ชอบ” บัตรสีเขียว
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้ง 2566 จะไม่รายงานผลการนับคะแนนแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชัน แรพิด รีพอร์ต (Rapid Report) แบบในการเลือกตั้งปี 2562 แต่หันมาใช้ระบบใหม่ ECT Report ซึ่งเชื่อมต่อกับสื่อสารมวลชนสำนักต่างๆ เริ่มนับคะแนนหลัง 17.00 น. ที่หน่วยเลือกตั้งปิดหีบคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) นับคะแนนเสร็จ ตรวจสอบความถูกต้อง แล้วให้ติดประกาศผลการนับคะแนนลงแบบ ส.ส. 5/18 ที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้เห็นคะแนนแรก
คณะกรรมการประจำเขตนำคะแนนของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (จากที่เลือกตั้งปกติ – 14 พ.ค., ที่เลือกตั้งล่วงหน้าในเขต – 7 พ.ค., ที่เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต – 7 พ.ค.) มารวมกัน ณ ที่ทำการศูนย์อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งนั้น ๆ เมื่อแล้วเสร็จจะประกาศผลการนับคะแนนเรียงตามลำดับผู้ได้คะแนนสูงสุดทันที และนำผลการรวมคะแนนขึ้นแสดงบนป้ายขนาดใหญ่ ณ ที่ทำการศูนย์อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งนั้นๆ
คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตนำผลคะแนนของพรรคการเมืองที่สมัครแบบบัญชีรายชื่อ (จากที่เลือกตั้งปกติ – 14 พ.ค., ที่เลือกตั้งล่วงหน้าในเขต – 7 พ.ค. ที่เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต – 7 พ.ค.) มารวมกัน ณ ที่ทำการศูนย์อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งนั้น ๆ เมื่อแล้วเสร็จจะประกาศผลการนับคะแนนเรียงตามลำดับหมายเลขของบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองทันที และนำส่งให้สำนักงาน กกต. เพื่อรวมคะแนนทั้ง 400 เขต และคำนวณสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อต่อไป โดยจะนำผลการรวมคะแนนของเขตเลือกตั้งนั้น ๆ ขึ้นแสดงบนป้ายขนาดใหญ่ ณ ที่ทำการศูนย์อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งนั้น ๆ
ผลการรวมคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ คาดว่าคะแนนแรกจะสามารถเริ่มทยอยประกาศได้ในเวลาประมาณ 18.30 น. เป็นต้นไป และคาดว่าคะแนนสุดท้ายจะทราบภายในเวลาไม่เกิน 23.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค.
และผลสำนักโพลคาด พท. ชนะต่ำ 200 เสียง ภายหลังปิดหีบเลือกตั้งเวลา 17.00 น. สำนักวิจัยต่างๆ ได้เผยแพร่ตัวเลขคาดการณ์จำนวน ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ โดยส่วนหนึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก่อนวันเลือกตั้งร่วมกับการวิเคราะห์ 2 สำนักโพลระบุตรงกันว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) มีโอกาสได้ที่นั่งในสภาสูงที่สุด ด้วยจำนวน ส.ส. 164-172 ที่นั่ง ตามผลสำรวจของนิด้าโพล ขณะที่ศรีปทุมโพลเปิดตัวเลขไว้ที่ 180-200 ที่นั่ง ส่วนอันดับสองเป็น พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โดยนิด้าโพลคาดการณ์ไว้ที่ 80-88 ที่นั่ง ส่วนศรีปทุมโพลให้ไว้ที่ 110-130 ที่นั่ง ทว่าในส่วนของอันดับสาม 2 สำนักโพลระบุผลไว้ไม่ตรงกัน นิด้าโพลยกให้พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งคาดว่าจะได้ 72-80 ที่นั่ง ขณะที่ศรีปทุมโพลยกให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งคาดว่าจะได้ 45-65 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามตัวเลขของพรรค รทสช. ใกล้เคียงกับนิด้าโพลที่คาดการณ์ว่า พรรค รทสช. มีโอกาสได้ 45-53 ที่นั่ง แต่เป็นพรรคอันดับห้า นอกจากตามหลัง ภท. แล้ว ยังตามหลังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่คาดว่าจะได้ 53-61 ที่นั่ง