ประเทศไทยเป็นประเทศนับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์ คนไทย ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวพุทธทั่วประเทศจะมีวัดวาอารามเป็นสัญลักษณ์ว่า พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองทั่วไป แม้จะอยู่ในถิ่นทุรกันดารก็ยังมีวัด ยังมีพระภิกษุให้ประชาชนได้บำเพ็ญกุศล ซึ่งนับว่าผิดกับศาสนาอื่นในโลก ซึ่งส่วนมากจะมีที่ทำบุญเพียงเล็กน้อย
เมื่อประชาชนชาวไทยยึดมั่นในศาสนาพุทธ ในยุคต่อมาจึงได้มีการสร้างพระบูชา พระเครื่องขึ้น เพื่อเป็นศาสนาวัตถุแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นพระบูชาก็จัดประดับไว้ยังบ้านเรือนของตน ถ้าเป็นพระเครื่องก็นำติดตัวไปด้วยเพื่อเป็นการอบอุ่นและเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกอยู่เสมอว่า เราเป็นชาวพุทธเราต้องทำแต่ความดี ละเว้นความชั่ว บางครั้งเมื่อมีภัยเกิดขึ้นก็ระลึกถึงพระที่ได้นำติดตัวไปให้ท่านช่วยเหลือ
การสร้างพระจึงมีมานานแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่มียุคใดสมัยใดที่การสร้างพระและประชาชนชอบสะสมพระเท่ากับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้เอง ประชาชนต่างเสาะหาพระเครื่องเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะพระสมเด็จฯ ซึ่งสร้างโดยพระคุณสมเด็จพุฒาจารย์(โต) แห่ง วัดระฆังโฆสิตารามธนบุรี ประชาชนจะให้ความสนใจเป็นพิเศษสมัยก่อนเพียงแต่ให้เปล่า ๆ สมัยปัจจุบันใครมีพระเครื่องชนิดนี้ (ของแท้) เอารถยนต์ใหม่ๆ มาให้สัก ๑ คัน หรือบ้านใหม่ ๆ สัก ๑ หลัง เจ้าของที่หวงแหนจะไม่ยอมแลกเปลี่ยนเด็ดขาด
สมัยปัจจุบันนี้พระเครื่องซึ่งสร้างโดยเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีชื่อเสียงดังมาก เพราะได้แสดงอภินิหาร ให้ปรากฏแก่มหาชนอยู่มิได้ขาด ราคาการเช่าพระสมเด็จฯ จึงได้ขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีการหยุดยั้ง เพราะการเสาะแสวงหาเป็นของยากยิ่งขึ้น ผู้ที่มีอยู่แล้วก็ไม่ยอมปล่อย ผู้ที่อยากจะได้ก็ให้ราคาสูงขึ้น ๆ เข้าใจว่าพระเครื่องดังกล่าวนี้ จะต้องมีชื่อเสียงดังไปอีกนานและประชาชนคงจะไม่เสื่อมคลายความนับถือกันแน่
ประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์เดิมท่านมีชื่อว่า “โต” เมื่ออุปสมบทในพระพุทธศาสนาได้นามฉายาว่า “พรหมรังสี” เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๑๑๕๐ ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๓๑ ณ บ้าน ตำบลไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ ๗ ปี) ท่านได้มรณภาพเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๑๖ ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ รวมอายุ ๘๕ ปี
มารดาของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ชื่อ เกศ เดิมเป็นชาวบ้านตำบลท่าอิฐ ต่อมาได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ ณ ตำบลไก่จ้น อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนบิดาของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ชื่อใดไม่ปรากฏแต่ท่านผู้รู้สันนิษฐานว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ เมื่อท่านเกิดแล้ว (ยังเป็นทารก) มารดาได้ย้ายไปพักอยู่ที่ตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง เมื่อท่านสอนนั่งได้มารดาก็ได้ย้ายมาอยู่ ณ บ้านตำบลบางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร
เมื่อยังเยาว์ท่านได้ศึกษาอักขระในสำนัก เจ้าประคุณอรัญญิก วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร เมื่ออายุ ๑๒ ปี พ.ศ. ๒๓๕๓ ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมี เจ้าคุณบวรวิริยเถร วัดสังเกศวิศยาราม บางลำพู เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตารามเพื่อศึกษาปริยัติธรรม
ก่อนที่ท่านจะย้ายไปอยู่วัดระฆังโฆสิตารามมีเรื่องเล่าว่าคืนหนึ่งพระอาจารย์ (คงหมายถึงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นาค เปรียญเอก วัดระฆังโฆสิตาราม ) ฝันเห็นช้างเผือกเชือกหนึ่งเข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านจนหมด ท่านก็ตกใจตื่นและได้พิจารณาเรื่องความฝันว่าคงจะมีคนนำเด็กมาฝากเป็นศิษย์ และเด็กนั้นจะต้องเป็นผู้มีความฉลาด ต่อไปจะเป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นผู้ทรงคุณวิเศษ
เมื่อรุ่งเช้าท่านจึงได้สั่งพระเณรว่า ถ้ามีใครนำเด็กมาขอให้รอพบท่านก่อน ปรากฏว่าวันนั้นท่านเจ้าคุณอรัญญิกได้นำสามเณรโตมาถวายเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ท่านอาจารย์ก็รับไว้ตามความฝัน
เมื่อครั้งยังเป็นสามเณรโต ท่านเทศน์มหาชาติไพเราะมาก เป็นที่ชื่นชมยินดีของท่านผู้ฟังทั่วไปในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงโปรดฯ รับไว้ในพระราชูปถัมภ์ จนถึงกับพระราชทานเรือกัญญาให้สามเณรโตนั่งไปเทศน์ในที่ต่างๆ ในขณะนั้นสามเณรโตมีภูมิความรู้สูงมาก
รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อได้ทรงฟังพระธรรมเทศนาที่สามเณรโตแสดง ทรงเลื่อมใสโปรดปราน จนถึงกับทรงรับบวชให้เป็นนาคหลวง ที่วัดพระศรี รัตนศาสดาราม เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๕๐ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุเป็นพระอุปัชฌาย์
การศึกษาของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตามที่ท่านผู้ใหญ่ได้เล่ากันมาว่า ท่านได้เรียนในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) เปรียญเอกวัดระฆังเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นก็ได้เรียนกับสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุบ้าง ในขณะที่เป็นนักเรียนก็ได้คำชมเชยจากอาจารย์ว่ามีความจำดี มีปฏิภาณยอดเยี่ยม
เรื่องการเรียนของเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีเรื่องเล่าว่า ในขณะที่ท่านเรียนปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จพระสังฆราช ก่อนจะเรียนท่านกำหนดว่า วันนี้จะเรียนตั้งแต่นี้ถึงนั้น เมื่อถึงเวลาเรียนท่านก็เปิดหนังสือออกแปลจนตลอดตามที่กำหนดไว้ท่านได้กำหนดอย่างนี้อยู่เสมอจนสมเด็จพระสังฆราชรับสั่งว่า “ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับชั้นดอก” ท่านได้เรียนรู้ปริยัติธรรมเป็นอย่างดี แต่ได้แปลหนังสือเป็นเปรียญ แต่นิยมเรียกกันว่ามหาโต ตั้งแต่อุปสมบทมา บางทีก็เรียกว่าขรัวโต เพราะท่านจะทำอะไรตามใจชอบไม่นิยมถือของอื่นเป็นใหญ่ปรากฏว่าในสมัยนั้นท่านเชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎกเป็นเยี่ยม
เจ้าประคุณสมเด็จฯ นอกจากได้ศึกษาคันถธุระแล้ว (พระปริยัติธรรม) ท่านยังได้ศึกษาวิปัสสนาธุระอีกอย่างหนึ่ง เพราะการเรียนวิปัสสนาธุระชำนาญแล้ว อาจจะทรงคุณวิเศษทางวิทยาคม และวิชาวิชัยสงคราม ท่านจึงได้เลือกเรียนวิชานี้ด้วย โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๒ การศึกษาวิปัสสนาธุระเจริญรุ่งเรือง เพราะพระองค์ทรงทำนุบำรุงวิทยาการประเภทนี้มาก ถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนาพระสงฆ์ที่ทรงคุณวุฒิด้านนี้ทั่วประเทศ มารับพระราชทานบาตร ไตรจีวร กรด และบริขารอื่นๆ และได้ทรงแต่งตั้งเป็นอาจารย์
ตามหลักสันนิษฐานเข้าใจว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่เหมือนใครคือ ท่านได้เรียนวิปัสสนากัมมัฎฐานหลายสำนัก แต่เท่าที่ทราบแน่นอนคือ ท่านได้เรียนในสำนักเจ้าประคุณอรัญญิกวัดอินทรวิหาร และเจ้าคุณบวรวิริยเถร (อยู่) วัดสังเวชวิศยาราม และพระอาจารย์แสง จังหวัดลพบุรี เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เรียนวิปัสสนามีความรู้แตกฉานตั้งแต่เป็นสามเณร
การสร้างถาวรวัตถุของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่เหมือนใครคือ ท่านชอบสร้างของใหญ่ ๆ ให้สมกับท่านเพื่อเป็นอนุสรณ์ เป็นต้นว่าสร้างพระนอนใหญ่ที่วัดสะตือ (เหนือพระพุทธบาท) จังหวัดพระนครศรีอยุธยาองค์หนึ่ง เพื่อเป็นที่ระลึกว่าท่านได้เกิดที่นั่น สร้างพระนั่งโตที่วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง ๑ องค์ เป็นที่ระลึกว่าท่านสอนนั่งได้ที่นั่น สร้างพระยืนใหญ่ ที่วัดอินทรวิหารกรุงเทพมหานคร ๑ องค์ เพื่อระลึกว่าท่านสอนยืนได้ที่นั่น
นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างพระโตนั่งกลางแจ้งที่วัดพิตเพียน (วัดกุฏิทอง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑ องค์ สร้างพระยืนปางอุ้มบาตรที่วัดกลาง ตำบลคลองข่อย (ใต้โพธาราม) จังหวัดราชบุรี ๑ องค์ สร้างพระเจดีย์ที่หลังโบสถ์วัดละครทำ ตำบลบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และสิ่งที่นับว่าสำคัญยิ่งในการสร้างของท่านคือ การสร้างพระสมเด็จฯ ซึ่งมีชื่อเสียงดังตราบเท่าทุกวันนี้
มูลเหตุของการสร้างพระพิมพ์พระสมเด็จฯ ผู้รู้กล่าวว่าท่านได้ปรารภถึงพระมหาเถรในปางก่อน ท่านเหล่านั้นจะสร้างพระพิมพ์บรรจุไว้ในปูชนียวัถุต่าง ๆ เพื่อเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ท่านจึงมีความดำริทำตามคตินั้น จึงได้จัดสร้างพระพิมพ์ขึ้น กล่าวกันว่าท่านได้สร้างถึง ๘๔,๐๐๐ เท่า พระธรรมขันธ์
การสร้างพระของเจ้าประคุณสมเด็จฯ เล่ากันว่า ท่านจะให้ช่างวัดช่างหล่อทำแม่พิมพ์ต่อมา ท่านที่เคารพนับถือและศิษยานุศิษย์ ได้จัดการทำแม่พิมพ์ถวาย (จึงปรากฏภายหลังว่าพระสมเด็จฯ มีหลายพิมพ์) ในขั้นแรกการสร้างพระใช้มีดบางแกะเป็นแม่พิมพ์ ต่อมาใช้หินอ่อน และไม้แก่นจันทร์ วัตถุที่นำมาใช้ในการสร้างพระมีหลายอย่างด้วยกัน เป็นต้นว่า ผงดินสอ , ดินสอเหลือง, ปูนขาวเกสร, ดอกไม้, เปลือกกล้วยหอม, ชานหมาก, ใบลานเผา, อาหารสำรวมและน้ำอ้อยบางชนิด ท่านก็สร้างด้วยวัตถุอย่างเดียวกัน บางชนิดก็สร้างด้วยของหลายอย่าง
ต่อมาท่านได้ใช้ดินสอขาว ลงอักขระลบแล้วเอาผงเก็บไว้ จากนั้นท่านให้ไปแกะดินขาวที่ล่อน ๆ ตามโบสถ์และสีมา แล้วนำมาผสมกับดินสอขาวจึงได้พิมพ์พระต่อไป โดยการพิมพ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในองค์พระเป็นปรกโพธิ์และทรงเจดีย์อื่น ๆ จึงสรุปไว้ว่าพระสมเด็จฯ บางองค์เนื้อเหลือง บางองค์เนื้อขาวเจือเขียวเล็กน้อย เมื่อหักดูข้างในมีผงสีดำปะปนอยู่ ก็เพราะท่านได้กะเทาะปูนขาวซึ่งมีตระไคร่น้ำอยู่ผสม รวมอยู่ด้วยเนื้อของพระสมเด็จฯ จึงได้เห็นอย่างนั้น
ได้เล่าต่อ ๆ กันมาว่า เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างพระพิมพ์เสร็จแล้ว ท่านได้ใส่บาตรหรือกระบุงไปตั้งไว้ในหอสวดมนต์ ตรงหน้าพระพุทธรูป จากนั้นโยงสายสินจญ์จากพระพุทธรูปไปที่พระพิมพ์นั้น ท่านได้บอกกับพระสงฆ์ที่มาประชุมเจริญพระพุทธมนต์ในพรรษา ช่วยปลุกเสกพระให้ด้วย พระพิมพ์ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้นำมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ต่าง ๆ คือ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) วัดเกศไชโย วัดตะไกร และมีผู้กล่าวว่ามีอยู่ที่กรุวัดใหม่อมตรสด้วย