วงการบันเทิง อาลัย ครูชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตอย่างสงบ
เมื่อวันที่ 20 ส.ค.67 เลขานุการนายชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล) พุทธศักราช 2541 ว่า ครูชรินทร์ นันทนาคร ถึงแก่กรรม ณ โรงพยาบาลตำรวจ เวลาประมาณ 02.23 น. โดยก่อนหน้านี้ครูชรินทร์มีปัญหาด้านสุขภาพ และเข้ารับการรักษาตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ล่าสุดเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ จนกระทั่งถึงแก่กรรม
นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า สวธ.ได้รับแจ้งจากเลขานุการนายชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล) พุทธศักราช 2541 ว่า ครูชรินทร์ นันทนาคร ถึงแก่กรรม ขณะนี้กำลังรอผลการวินิจฉัยถึงการเสียชีวิต อย่างเป็นทางการของโรงพยาบาลตำรวจ และเบื้องต้นญาติวางแผนในการนำร่างกลับไปบำเพ็ญกุศล ณ วัดธาตุทอง กทม.
อธิบดี สวธ.กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ สวธ.รับผิดชอบดูแลและส่งเสริมสนับสนุนศิลปินแห่งชาติ ต้องขอแสดงความเสียผิดพลาด! การอ้างอิงไฮเปอร์ลิงก์ไม่ถูกต้องใจกับครอบครัวของครูเป็นอย่างยิ่ง และรู้สึกเสียดายที่ต้องสูญเสียครูชรินทร์ ซึ่งเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่า มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่า ได้รับความนิยมและยอมรับเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ศิลปินแห่งชาติที่เสียชีวิตจะได้รับสวัสดิการช่วยเหลือตามกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2555 ดังนี้ เงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต จำนวน 20,000 บาท, ค่าเครื่องเคารพศพ จำนวน 3,000 บาท, เงินค่าจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่ผลงาน จำนวน 150,000 บาท
สำหรับประวัติ “ชรินทร์ นันทนาคร”
นายชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล) เกิดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 เป็นศิลปินนักร้อง นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวไทย ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541 สมรสครั้งที่สองกับนางเอกภาพยนตร์ เพชรา เชาวราษฎร์
ครูชรินทร์ เป็นผู้ริเริ่มร่วมสร้างสรรค์เพลง สดุดีมหาราชา ซึ่งส่งผลให้ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” สาขาใช้ศิลป์สร้างสรรค์ให้เกิดความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ขับร้องเพลงไทยสากลผสมผสานกับเพลงไทยเดิม มีท่วงทำนองสูงต่ำเอื้อนด้วยน้ำเสียงที่มีเสน่ห์ชวนฟัง ออกเสียงอักขระได้ชัดเจน มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงประมาณ 1,500 เพลง นอกจากนี้ชรินทร์จบการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย จบมัธยมการศึกษาจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ กรุงเทพมหานคร เริ่มฝึกหัดร้องเพลงกับ ไสล ไกรเลิศ และเริ่มร้องเพลงสลับละครเวทีเรื่อง นางไพร เมื่อ พ.ศ. 2492 ด้วยเพลงดวงใจในฝัน และเริ่มบันทึกแผ่นเสียงจำหน่ายเป็นครั้งแรก และตามด้วยเพลง อิเหนารำพัน เมื่อ พ.ศ. 2494 จากนั้นย้ายกลับไปเชียงใหม่ ทำงานที่บริษัทกมล-สุโกศล สาขาเชียงใหม่ แล้วสำนักงานใหญ่เรียกมาทำงานที่กรุงเทพฯ ทำตำแหน่งแผนกบัญชี แผนกต่างประเทศ ไปจนถึงแผนกแผ่นเสียง จากนั้นทำงานเป็นเลขานุกรมที่องค์การยูซ่อม (USOM)
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่นิยมสูงสุด ได้แก่ เพลงเรือนแพ, มนต์รักดอกคำใต้, หยาดเพชร, อาลัยรัก, ทาษเทวี, เด็ดดอกรัก, ผู้ชนะสิบทิศ, ที่รัก, นกเขาคูรัก, แสนแสบ, ท่าฉลอม, สักขีแม่ปิง, ทุยจ๋าทุย, เพราะขอบฟ้ากั้น ฯลฯ ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำจากเพลง อาลัยรัก ก่อนจะผันไปเป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ. 2508 มีผลงานในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งหมดกว่า 19 เรื่อง โดยมีภาพยนตร์เรื่อง รักข้ามคลอง ที่ทำรายได้สูงที่สุด และภาพยนตร์ แผ่นดินแม่ ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศไทยที่สร้างในระบบ 70 มม. แต่หลังจากนั้นก็เลิกทำหนังไปเหตุเพราะวงการหนังที่เปลี่ยนไปจึงเกิดความเบื่อ
ครูชรินทร์ นันทนาคร ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “นันทนาคร” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ให้ความรื่นรมย์แก่ชาวเมือง” ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541
สำหรับชีวิตส่วนตัว
ครูชรินทร์ นันทนาคร สมรสครั้งแรกกับ “สปัน เธียรประสิทธิ์” ซึ่งเป็นน้องสาวของ “ปองทิพย์” ภรรยาของ “สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” มีบุตรสาวสองคนคือ ปัญญ์ชลี (สมรสกับ เศรณี เพ็ญชาติ เป็นมารดาของ แหวนแหวน ปวริศา เพ็ญชาติ) และปัญชนิตย์ เธียรประสิทธิ์ (สมรสกับชาวต่างชาติ เป็นมารดาของ ปัญญริสา เธียรประสิทธิ์) ต่อมาชรินทร์ได้หย่าขาดสปัน และได้สมรสใหม่กับ “เพชรา เชาวราษฎร์” อดีตนางเอกภาพยนตร์ชื่อดัง มีบุตรด้วยกัน 1 คน แต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)