ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล สู่ พรรคประชาชน
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล ในการออกนั่งบัลลังก์ของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่ออ่านคำวินิจฉัย มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ก.ก. เป็นตัวแทนพรรคเข้าร่วมรับฟังในห้องพิจารณาคดีเพียงคนเดียว โดยก่อนหน้านั้น เขาแสดงความมั่นใจแนวทางการต่อสู้คดีทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย คิดว่าจะได้รับความเป็นธรรม และยืนยัน “ไม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์เหมือนพรรคอนาคตใหม่”
ด้าน สส.ก้าวไกลกว่าร้อยชีวิตเข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามปกติ ก่อนไปรวมตัวกันที่พรรคภายหลังเสร็จภารกิจที่รัฐสภา ทั้งนี้พรรคสีส้มได้เปิดที่ทำการพรรค อาคารอนาคตใหม่ ย่านหัวหมาก เชิญชวนประชาชนผู้สนับสนุนพรรคร่วมเกาะติดการอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ก้าวไกล ไปต่อ”
ให้เหตุผลว่า คำวินิจฉัยคดี 3/2567 หรือที่รู้จักในชื่อ “คดีล้มล้างการปกครอง” มีผลผูกพันทุกองค์กร และมีผลผูกพันมาถึงคดีนี้ โดยระบุเหตุผลไว้ตอนหนึ่งว่าพฤติการณ์ของพรรค ก.ก. ที่เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหวังคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันฯ อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน “ผู้ถูกร้อง (พรรค ก.ก.) มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือทําให้อ่อนแอลง อันนําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด การกระทําของผู้ถูกร้องจึงเข้าลักษณะการกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
แม้พรรค ก้าวไกลระบุว่า การกระทำต่าง ๆ ไม่ได้ทำในนาม กรรมการบริหาร หรือกระทำผ่านมติพรรค แต่ กรรมการบริหารต้องมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกพรรคกระทำการอันฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ “เช่นนี้จึงเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังผลักดันให้นโยบายของพรรคสำเร็จลงตามความมุ่งหมาย ถือเป็นการกระทำความผิดโดยอ้อมของพรรค โดยใช้ สส. หรือสมาชิกพรรค เป็นตัวแทนหรือเป็นเครื่องมือในการกระทำผิด” “กรณีจึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 อนุหนึ่ง และอนุสอง อันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านวินิจฉัยตอนหนึ่ง
สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับวินิจฉัยคดีหรือไม่
ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้บุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ เลิกกระทำการดังกล่าว โดยมิได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองที่มีการกระทำล้มล้างการปกครองฯ ไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรง ดังเช่นรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 63 วรรคสาม หรือรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 วรรคสาม “แต่เจตนารมณ์ในการคุ้มครองและปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดย่อมแสดงออกโดยสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้กับประชาชน และให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้ หากมีข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลหรือพรรคการเมืองจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ”
2. ไม่เปิดโอกาสผู้ถูกร้องรับฟังข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเพื่อหักล้าง
ศาลชี้แจงว่า การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ 2 กรณี ได้แก่ กรณี กกต. มี “หลักฐานอันควรเชื่อได้” ว่าพรรคการเมืองใดได้กระทำการที่เข้าลักษณะตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) และกรณี “เมื่อปรากฏ” ต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 93 นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อเสนอความเห็นต่อ กกต. ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายวางกฎเกณฑ์ของผู้เริ่มกระบวนการและลักษณะของข้อเท็จจริงไว้แตกต่างกัน
กรณีนี้ ผู้ถูกร้องยื่นต่อศาลว่าไม่ได้ให้โอกาสโต้แย้ง แต่เมื่อคดีนี้กับคดี 3/2567 เป็นคดีที่มีมูลกรณีและผู้ถูกร้องเป็นบุคคลเดียวกัน การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคดีตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 โดยการไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่อง ให้ทราบข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริง โดยผู้ถูกร้องมีโอกาสตรวจ คัดค้านพยานหลักฐาน สำนวนทั้งหมด รวมทั้งได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเต็มที่ต่อหน้าศาลแล้ว “จึงถือว่าเป็นกระบวนการไต่สวนรัฐธรรมนูญที่ให้ความเป็นธรรมยิ่งไปกว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องจึงไม่อาจรับฟังได้”
3. ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกกระทำ พรรค ก.ก. ได้นำนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์ และไม่อาจใช้คำวินิจฉัยคดี 3/2567 มาผูกพันคดีนี้ได้ ศาลต้องไต่สวนคดีใหม่ทั้งหมด
ศาลระบุว่า แม้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะไม่ยกเลิกไปหรือสิ้นไป แต่หากมีข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อมีการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เกิดขึ้นแล้ว “การกระทำนั้นจะเป็นความผิดสำเร็จในทันที โดยไม่ต้องรอให้มีผลจากการกระทำนั้นปรากฏขึ้นก่อน” เมื่อคำวินิจฉัย 3/2567 พบว่า ผู้ถูกร้องกระทำหลายพฤติการณ์ต่อเนื่องเป็นขบวนการ “หากปล่อยให้ผ้ถูกร้องกระทำการต่อไปย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ การกระทำของผู้ถูกร้องจึงใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ อันเป็นความผิดสำเร็จตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 แล้ว”
4. พรรคเป็นนิติบุคคล ต้องดำเนินการโดย กก.บห. จึงจะผูกพันหรือเป็นการกระทำของพรรค แต่การเสนอกฎหมาย เป็นนายประกัน และแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ เป็นการกระทำของ สส. ในฐานะส่วนตัว
ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดี 3/2567 ฟังเป็นยุติแล้วว่าการเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ลดทอนคุณค่าสถาบันฯ ดำเนินการโดย สส.ก้าวไกลเพียงพรรคเดียว โดยเฉพาะเสนอนโยบายหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 ต่อ กกต. เพื่อใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แม้การกระทำเหล่านี้จะไม่ได้ทำในนาม กก.บห. หรือกระทำผ่านมติพรรค แต่ กก. บห. ต้องมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกพรรคกระทำการอันฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ “เช่นนี้จึงเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังผลักดันให้นโยบายของพรรคสำเร็จลงตามความมุ่งหมาย ถือเป็นการกระทำความผิดโดยอ้อมของพรรค โดยใช้ สส. หรือสมาชิกพรรค เป็นตัวแทนหรือเป็นเครื่องมือในการกระทำผิด” นอกจากนี้ผู้ถูกร้องยังแสดงบทบาทเคลื่อนไหวการเมือง โดยสอดรับกับกลุ่มต่าง ๆ โดยรณรงค์ปลุกเร้าให้แก้ไขมาตรา 112 ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขุ่นเคืองในหมู่ประชาชน มีลักษะยุยงให้เกิดการเกลียดชัง ย่อมส่งผลให้หลักการและคุณค่าที่ดำรงอยู่ตามรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของรัฐต้องถูกล้มเลิกและสูญเสียไป ผู้ถูกร้องไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดได้
5. ผู้ถูกร้องต่อสู้ว่าไม่ได้ล้มล้างการปกครองฯ และการกำหนดโทษไม่ได้สัดส่วน
ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นกล่าวอ้าง ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่เดิมหรือเคยต่อสู้ในชั้นพิจารณาของศาลในคดี 3/2567 มาแล้วทั้งสิ้น เมื่อศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วในคดีดังกล่าวว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ” ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมต้องผูกพันศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ด้วย
6. ส่วนการกระทำเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ หรือไม่
ศาลเห็นว่า การกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ย่อมร้ายแรงกว่าการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ เนื่องจากการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์หมายถึงกระทำตนต่อต้าน เป็นฝ่ายตรงข้าม ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริง 3/2567 รับฟ้งได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการล้มล้างการปกครองฯ ย่อมเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุด้วยว่า การยุบพรรคต้องเคร่งครัด ระมัดระวัง ได้สัดส่วนความรุนแรง ผู้ถูกร้องมีการกระทำอันฝืน พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 อนุหนึ่ง และอนุสอง กฎหมายดังกล่าวต้องใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรคไม่ว่าพรรคนั้นจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกพรรคต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเดียวกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน อันเป็นพฤติการณ์และข้อกฎหมายที่ได้สัดส่วน จำเป็นต้องปฏิบัติตามเพื่อหยุดยั้งการทำลายพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”
“แม้นักวิชาการสาขาต่าง ๆ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเศ ต่างก็มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ การแสดงความเห็นใด ๆ ย่อมต้องมีมารยาททางการทูตและการต่างประเทศที่พึงปฏิบัติต่อกัน” คำวินิจฉัยศาลระบุตอนหนึ่ง
สำหรับมติที่ออกมา
– มติ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรค ก.ก. ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง
– มติ 8 ต่อ 1 ให้ยุบพรรค ก.ก. ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยคือ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์)
– มติ 9 ต่อ 0 ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กก.บห. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างวันที่ 25 มี.ค. 2564-31 ม.ค. 2567
– มติ 9 ต่อ 0 ห้ามมิให้ผู้เคยดำรงตำแหน่ง กก.บห. ที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็น กก.บห. หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น 10 ปี
“คำวินิจฉัยเป็นการวางบรรทัดฐานในการตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่อันตราย สุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อหลักการสำคัญและคุณค่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข “มีนัยที่อันตรายอยู่จากคำวินิจฉัย และสุ่มเสี่ยงทำให้ระบอบนี้ของเราสูญเสียสมดุลระหว่างคุณค่าหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย และการดำรงอยู่ของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศ” ชัยธวัช กล่าว
ผลที่จะเกิดขึ้นทันทีหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ก.ก. และตัดสิทธิการเมือง กก.บห. มี ดังนี้
– สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 จะเหลือ สส. ปฏิบัติหน้าที่ได้ 493 คน จากเดิม 499 คน (1 คนที่หายไปคือ นางมุกดาวรรณ เลื่องศรีนิล สส.นครศรีธรรมราช เขต 8 พรรคภูมิใจไทย ที่ศาลฎีกาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างพิจารณา “คดีใบแดง” ตั้งแต่ 5 ก.ค. 2567)
– พรรค ก.ก. ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 1 ของสภา ด้วยยอด สส. 148 คน จะเหลือเสียงอยู่ 143 คน เนื่องจาก สส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 5 คนที่เป็น กก.บห. ไม่ได้ชิงลาออกจากตำแหน่ง แล้วเปิดทางให้ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับถัดไปของก้าวไกลเลื่อนขึ้นมาเติมเสียงให้เต็มก่อนมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นั่นทำให้เสียงของแกนนำพรรคฝ่ายค้านมีมากกว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแกนนำรัฐบาลเพียง 2 เสียงเท่านั้น (143 ต่อ 141 เสียง)
– พรรคเป็นธรรม (ปธ.) ซึ่งเป็นต้นสังกัดปัจจุบันของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา จะกลับไปเหลือ สส. 1 คนตามเดิม
– คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 แทนตำแหน่งของนายปดิพัทธ์ที่ว่างลงภายใน 45 วัน
– สภาต้องจัดประชุมเพื่อเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 คนใหม่แทนนายปดิพัทธ์ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะพรรคอันดับ 2 ของรัฐบาล “เศรษฐา” ประกาศผ่านสื่อแล้วว่า “ภูมิใจไทยก็ต้องขอละครับ”
– พรรค ก.ก. ต้องเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งจะก้าวขึ้นไปทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาคนใหม่ แทนนายชัยธวัช ตุลาธน
– สส. ก้าวไกลที่เหลืออยู่ 143 ชีวิต ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน เพื่อไม่ให้ขาดสมาชิกภาพ สส. ท่ามกลางการจับตาดูว่าจะยกทั้งแพ็กไปอยู่บ้านหลังใหม่ด้วยกัน หรือมีใครแยกวงไปอยู่บ้านหลังอื่น โดยนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรค ก.ก. ออกมาเปิดประเด็นว่า มีผู้ช่วยรัฐมนตรีคนหนึ่งเสนอเงินจำนวน 30 ล้านบาท ให้เขาย้ายไปอยู่พรรคใหม่ที่กำลังจะตั้งขึ้น
นอกจากนี้ คำวินิจฉัยคดียุบพรรคยังมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยจะส่งผลต่อการพิจารณา “คดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง” ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้น ป.ป.ช. ว่า 44 สส.ก้าวไกล ที่ร่วมลงลายมือชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของสภา
ล่าสุดวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567 เปิดตัวพรรคประชาชน บ้านใหม่ สส. ก้าวไกล “เท้ง” ณัฐพงษ์ นั่งหัวหน้าพรรค นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน บ้านหลังใหม่ของ สส. อดีตพรรคก้าวไกล ซึ่งชนะการเลือกตั้งด้วยกว่า 14 ล้านเสียง และถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จากอดีตพรรคก้าวไกลและทีมงานเครือข่ายสมาชิกพรรค เดินทางมายังอาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ เพื่อประชุมพรรค และร่วมกันกำหนดตัวผู้บริหารและทิศทางนโยบายของพรรคใหม่ ในการประชุมครั้งนี้ ผู้บริหารพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลได้เข้าร่วมด้วย เนื่องจากเป็นพรรคเดิมของบ้านหลังใหม่ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคประชาชน” (People Party)
สำหรับรายชื่อกรรมการบริหารพรรคประชาชน ซึ่งที่ประชุมอดีต สส. ก้าวไกล มีมติแต่งตั้งจำนวน 5 ตำแหน่ง ในวันนี้ ได้แก่
– นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค
– นายศรายุทธ ใจหลัก เลขาธิการพรรค
– น.ส.ชุติมา คชพันธ์ เหรัญญิกพรรค
– นายณัฐวุฒิ บัวประทุม นายทะเบียนพรรค
– นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ กรรมการบริหารพรรค
ภารกิจแรกของพรรคประชาชน คือ การเชิญชวนประชาชน และอดีตสมาชิกพรรคก้าวไกลกว่า 1 แสนคนร่วมสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาชน
ด้านนายณัฐพงษ์ หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวแถลงว่า ภารกิจของเขาและพรรคต่อจากนี้ คือ สร้างรัฐบาลแห่งการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งปี 2570 โดยมีเป้าหมายสูงยิ่งขึ้น คือ ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ซึ่งยังมีหลายงานต้องทำตั้งแต่สร้างพรรค ปรับปรุงโครงสร้างพรรค หาเงินบริจาค และหานโยบายมัดใจประชาชน “เป้าหมายขั้นต่ำของพวกเรา เราจะชนะเลือกตั้งโดยเป็นรัฐบาลพรรคเดียว”
ด้านนายศรายุทธ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน เปิดเผยว่า บทบาทของเลขาธิการพรรค เขาจะเข้ามาดูสิ่งสำคัญที่สุดคือสร้างโครงสร้างพรรคและสมาชิกพรรคให้แข็งแรง การสร้างพรรคที่แข็งแรงต้องใช้เวลา ต้องใช้คนจำนวนมาก และต้องสร้างพรรคให้เป็นสถาบันให้ได้ เพื่อทำงานการเมืองในท้องถิ่นและเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ “เรามั่นใจว่าจะมีพรรคทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้วก็ตาม” นายศรายุทธกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ ก่อนการแถลงผลการลงมติของสมาชิกพรรคประชาชน