เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ รัฐประหยัดงบหรือลดสวัสดิการประชาชน
เบี้ยยังชีพคนชรา หรือ “เบี้ยคนแก่” เป็นเงินบำนาญผู้สูงอายุที่อายุครบ 60 ปีขึ้นไป เริ่มขึ้นในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552 ด้วยการใช้ระบบขึ้นทะเบียนก่อนเปลี่ยนแปลงเป็นการยืนยันสิทธิ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือคุณสมบัติด้านรายได้ มีเพียงการระบุว่าจะต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการอื่นอยู่ก่อนแล้ว แต่ใน “ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566” ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2566 ซึ่งเป็นช่วงของรัฐบาลรักษาการ มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
ปัจจุบัน ตัวเลขผู้สูงอายุในไทย ณ สิ้นปี 2565 จากฐานข้อมูลของ พม. มีอยู่กว่า 12.6 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพราว 11 ล้านคน เมื่อหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ของกระทรวงมหาดไทย ที่เผยแพร่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 11 ส.ค. นับได้ว่าเป็นการสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราแบบ “ถ้วนหน้า” ที่ดำเนินมากว่า 14 ปี อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้ระบุว่า ผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนการประกาศใช้ระเบียบนี้ ให้ยังคงได้รับสิทธิต่อไป
เปรียบเทียบหลักเกณฑ์ใหม่ กับหลักเกณฑ์ใหม่ รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
[หลักเกณฑ์ใหม่รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ]
1. มีสัญชาติไทย
2. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4. เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสำคัญที่ระบุในบทเฉพาะกาลของระเบียบฯ ใหม่นี้
ข้อ 17 บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้บังคับใช้ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป
ข้อ 18 ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุยังมิได้ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามข้อ 6 (4) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้คุณสมบัติผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมไปพลางก่อน
[หลักเกณฑ์เดิมรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ]
ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่เพิ่มเติม พ.ศ. 2561 ที่กำหนดไม่ให้มีการจ่ายเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนกับประโยชน์อื่น
ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุ 60 ปีขึ้นไป และไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใจจากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่รวมถึงผู้พิการหรือผู้ป่วยเอดส์ หรือผู้ได้รับสวัสดิการอื่นตามมติ ครม.
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 66 โดยสรุปว่า เรื่องเงินดูแลผู้สูงอายุ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เป็นเจ้าของเรื่อง โดยมี ‘คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ’ เป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ตามหลักเกณฑ์ แต่งบประมาณส่วนนี้นำมาให้ ‘องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ เป็นผู้จ่าย จึงเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย เคยมีปัญหาเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ลงทะเบียนแล้ว แต่เกิดประเด็นว่า ‘กรมบัญชีกลาง’ ท้วงคนที่มีรายได้ส่วนอื่นจากของรัฐจะรับอีกไม่ได้ ในช่วงนั้นก็แก้ไขปัญหากัน สรุปว่าที่จ่ายไปแล้วก็ไม่เรียกคืน ที่เรียกคืนไปแล้ว เราก็ไปจ่ายเงินคืนให้เหมือนเดิม มาถึงตอนนี้จะจ่ายอย่างไรนั้น จะต้องรอเกณฑ์ต่างๆ จากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ
ส่วนกรณีโซเชียลฯ เกิดกระแส “พิสูจน์ความจน” พล.อ.อนุพงษ์ ตอบว่า “มันก็มีวิธีคิดได้หลายแบบ คนอย่างผมได้ด้วยเนี่ยคุณว่ายุติธรรมไหม ผมก็เป็นข้าราชการเกษียณแล้ว ผมมีบำนาญ 6 หมื่นกว่าบาท คุณว่าผมควรได้ไหม นั่นแหละเป็นสิ่งที่เขาจะพิจารณาว่า คนแบบใดไม่ควรได้คนแบบใดควรได้”
เช้าวันนี้ (15 ส.ค. 66) ก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.อนุพงษ์ได้ชี้แจงเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้ง พร้อมระบุ เรื่องนี้ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะมองว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ทั่วถึง ตามรัฐธรรมนูญ เป็นธรรม และมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต หนทางเราเตรียมไว้ให้แล้ว ออกทางไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้