โหวตนายก “พิธา” รอบแรกไม่ผ่าน เห็นชอบ 324 เสียง งดออกเสียงเพียบ พร้อมกันนี้ก็จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เวลาประมาณ 16.00 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา สั่งนับองค์ประชุม มีสมาชิกแสดงตนเข้าประชุม 676 คน เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ถือว่าครบองค์ประชุมจึงให้เริ่มการลงคะแนนเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเลขาธิการสภา จะขานชื่อสมาชิกแต่ละคนไล่เรียงตามตัวอักษร และให้สมาชิกที่ถูกขานชื่อ ลุกขึ้นขานว่า “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” หรือ “งดออกเสียง”
ผลการลงคะแนนปรากฎว่า
– เห็นชอบ 324 เสียง
– ไม่เห็นชอบ 182 เสียง
– งดออกเสียง 199 เสียง
เมือผลโหวตออกมาได้เกิดความเคลื่อนไหวของคนการเมืองในการ“ฝัง” แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ไม่ให้กลับมาเสนอชื่อซ้ำได้ในการลงมติครั้งต่อไป โดยตีความว่าเป็น “ญัตติ” ขณะที่คนก้าวไกลได้เตรียมข้อโต้แย้งอย่างน้อย 4 ข้อเพื่อต่อสู้ในนัดประชุมสภาอีกครั้งวันที่ 19 ก.ค.นี้ และสิ่งที่พิธาบอกว่าจะทำหลังจากนี้คือ “เตรียมใจ เตรียมแผน เตรียมสมอง เพื่อโหวตนายกฯ ในครั้งที่ 2” ใช้เวลาคิดยุทธศาสตร์เพื่อรวบรวมเสียงในการโหวตครั้งต่อไป หลังได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เพียง 13 เสียง
หลังจากการโหวตเสร็จตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล นำโดย รังสิมันต์ โรม, ชลธิดา แจ้งเร็ว, รักชนก ศรีนอก, ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์, พุธิตา ชัยอนันต์ และ เบญจา แสงจันทร์ เดินออกมาจากอาคารรัฐสภา เพื่อมาพบกับผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันอยู่ภายในศูนย์ราชการ เกียกกาย โดยมีผู้ชุมนุมมาต้อนรับและส่งเสียงให้กำลังใจ ซึ่งวันนี้มาเพื่อยืนยันว่าจะยังคงสู้ต่อไป เพื่อผลักดันจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ และยืนยันว่า ส.ส. ทุกคนที่ประชาชนเลือกมาจะไม่ทำให้ทุกคนผิดหวังอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันการชุมนุมของกลุ่มที่สนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีได้นัดหมายการชุมนุมอีกครั้ง โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า ‘Respect My Vote เคารพเสียงประชาชน’ ในวันพรุ่งนี้ เวลา 18.00 น. ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
ล่าสุดวันนี้ (14 ก.ค. 66 ) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่าจะมีการหารือกับแกนนำของพรรคเพื่อไทยเป็นการภายใน ถึงแนวทางการผลักดันนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยยังยืนยันว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภานัดต่อไป ก็จะยังเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯต่อไป ขณะเดียวกัน ยังต้องเดินหน้าประสานกับ ส.ว.เพื่อขอคะแนนเสียง พร้อมกันนี้ก็จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ในนามของพรรค คู่ขนานไปกับการโหวตนายกฯและหากพรรคเพื่อไทยยินดีสนับสนุนก็จะยื่นร่างไปพร้อมกัน
สำหรับผลคะแนนที่ออกมานายชัยธวัช ตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนหนึ่งมาจาก ส.ว.ที่แสดงเจตจำนงมาตั้งแต่ต้นและส่วนหนึ่งมาจากการประสานพูดคุย แต่ต้องยอมรับว่า กระแสกดดัน ส.ว.ในช่วงโค้งสุดท้าย มีทั้งการข่มขู่ และกระแสข่าวการให้เสนอผลประโยชน์ต่าง ๆ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ ส.ว.หลายคนเปลี่ยนใจ ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน แต่ต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่ง ส.ว.ที่ประสานไว้ก่อนหน้านี้ มีมากกว่าจำนวน ส.ว.ที่โหวตให้มาก แต่ต้องยอมรับว่า มีกระแสกดดันมากจริง ๆ ดังนั้น ต้องหารือกันต่อภายในพรรคและกับพรรคเพื่อไทยว่า จะดำเนินการอย่างไรก่อนวันโหวตครั้งต่อไป รวมถึงหารือกับ ส.ว. บางส่วนเพื่อหาคะแนนเสียงให้มากขึ้น