จากกรณี ‘หมอปุยเมฆ’ หรือ ปุยเมฆ นภสร ที่ได้ตัดสินใจลาออกจากราชการในโรงพยาบาลของรัฐ แห่งหนึ่ง เนื่องจากปริมาณงานในโรงพยาบาลที่มากเกินไป จนไม่ยุติธรรมสำหรับคนทำงาน และทำให้คุณภาพชีวิตนับวันยิ่งแย่ลง ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกาย และจิตใจ แม้ ‘แพทย์’ จะเป็นอาชีพยอดนิยมของสังคมไทย และได้รับการยกย่องอย่างมาก เพราะเป็นอาชีพของคนเก่งที่ต้องมีทั้งความเมตตาและเสียสละ พร้อมใช้ความรู้ความสามารถในการ ‘รักษาชีวิตของผู้คน’ แต่ด้วยชั่วโมงการทำงานที่อัดแน่น รวมถึงภาวะกดดันมากมาย ความเครียดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ สภาพแวดล้อมภายในที่ทำงานไม่เอื้อ ทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ตัดสินใจลาออก
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น ‘หมอขาดแคลน’ กรณีที่เป็นกระแสสังคมกรณี หมอจบใหม่ลาออก สะท้อนปัญหาสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน และจะรุนแรงขึ้นในอนาคต
หนึ่ง ปัญหาเชิงระบบ ได้แก่ ระบบราชการที่เน้นอำนาจบนลงล่างในทุกระดับ ทำให้ไม่เหมาะกับยุคที่คนต้องการอิสระทางความคิด การทำงาน และความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังเป็นระบบงานที่ไม่เอื้อต่อสมดุลชีวิต มีงานที่ไม่จำเป็น เช่น งานเอกสารจากการสั่งการนโยบายต่างๆ ถาโถมเข้ามาสู่ระดับปฏิบัติการ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีสวัสดิภาพและประสิทธิภาพ
สอง ปัญหาของคนในสังคมไทย ที่หลงใหลได้ปลื้มกับความสุขสบายหรูหราฟู่ฟ่า และคลั่งไคล้ระบบทุนนิยมตะวันตก จึงอยากได้ อยากมี ความเป็นมาตรฐานระดับโลก มองการรักษาพยาบาลแบบซื้อขายสินค้าหรือบริการ ไม่เตรียมใจรับกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ในกระบวนการตรวจรักษา ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากปัญหาเชิงระบบที่มีหน่วยงานหลายต่อหลายแห่งพยายามประชาสัมพันธ์ สร้างแบรนด์มาตรฐานโรงพยาบาล ซึ่งแทนที่จะเกิดผลดี กลับเกิดผลเสีย เพราะทำให้คนเข้าใจกันผิดว่ามาตรฐานแปลว่าต้องไม่มีความผิดพลาด
และสำคัญที่สุดคือ สาม ปัญหาของคนที่มาเรียนจนจบเป็นแพทย์ เป็นปัญหาตั้งแต่คนที่เข้ามาเรียนแพทย์ ที่หากรู้อยู่ว่าไม่อยากเรียน ก็ไม่ควรฝืนเรียน เพราะไม่มีแรงใจตั้งแต่ต้น แต่หากอยากเรียน จะด้วยเพราะอยากรู้จักชีวิตและร่างกายคน อยากดูแลคน อยากรักษาคนให้หายจากเจ็บป่วย อยากเห็นคนพ้นทุกข์ แม้จะไม่เก่ง ก็สามารถฝึกให้เก่งได้ เวลาทำงานก็จะมีความสุข
แพทยสภาได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2565 โดยใจความสำคัญระบุกรอบเวลาการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ คือให้ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แพทย์ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป ปรากฎว่ามีบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนตั้งคำถามว่า การกำหนดกรอบเวลาการทำงานให้แก่แพทย์เพิ่มพูนทักษะ แต่ไม่มีการกำหนดให้กับแพทย์ใช้ทุนปีอื่นๆด้วยหรืออย่างไร และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะแก้ปัญหาภาระงานแพทย์ได้อย่างครอบคลุมจริงๆ
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.พิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผอ.สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ร่วมแถลงข่าวปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุข หลังจากกระแสข่าวเรื่องแพทย์ลาออกจำนวนมากกว่า ปัญหาเรื่องขาดแคลนกำลังคนในระบบสาธารณสุขเกิดขึ้นทั้งวิชาชีพแพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาล นักรังสีการแพทย์ โดยในส่วนของแพทย์ อยู่ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข 24,649 คน คิดเป็น 48% ของแพทย์ทั้งประเทศ ต้องดูแลประชากรประมาณ 75-80% คิดเป็น สัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1: 2,000 คน ถือเป็นภาระงานที่ค่อนข้างหนัก กำลังการผลิตแพทย์ภาครัฐและเอกชนรวมกันได้ปีละ 3,300 คน จำนวนนี้ 1 ใน 3 เป็นการผลิตของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการจัดสรรจะมีคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรฯ (Consortium) และมีหน่วยงานรับจัดสรรหลายสังกัด ทั้งนี้ ข้อมูล สถิติแพทยสภา ณ วันที่ 4 เมษายน 2566 พบว่า มีจำนวนแพทย์ทั้งหมด 72,250 คน แบ่งเป็น ชาย 39,207 คน หญิง 33,043 คน จากข้อมูลระบุว่า แพทย์ ที่ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 68,725 คน แบ่งเป็นชาย 36,401 คน หญิง 32,324 คน นอกจากนี้ยังจำแนกเป็น แพทย์ที่ยังสามารถติดต่อได้จำนวน 66,685 คน เป็นชาย 34,953 คน หญิง 31,732 คน จำนวนแพทย์ ตามที่อยู่ใน กทม. มีจำนวน 32,198 คน เป็นชาย 17,039 คน หญิง 15,159 คน และ จำนวนแพทย์ ตามที่อยู่ในต่างจังหวัด มีจำนวน 34,487 คน เป็นชาย 17,914 คน หญิง 16,573 คน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า สำหรับการดูแลบุคลากรในสังกัดทุกวิชาชีพเน้น 4 เรื่อง ซึ่งดำเนินการมาตลอด คือ
1. การเพิ่มค่าตอบแทน มีการหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนต่างๆ ให้สอดคล้องกับภาระงานและเศรษฐกิจ
2. สวัสดิการ ทั้งเรื่องที่พัก สภาพแวดล้อม ความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
3. ความก้าวหน้าในการทำงาน ได้หารือกับ ก.พ. เรื่องกรอบอัตรากำลัง การกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น
4. เรื่องภาระงาน ยังต้องผลิตแพทย์และขอรับการจัดสรรเพิ่มเพื่อมาเติมในระบบ โดยกรอบอัตรากำลังใหม่ที่ประกาศใช้ปี 2565-2569
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ตอบเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอ พยาบาล ทยอยลาออก เนื่องจากกดดันปัญหาการทำงานว่า เรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ
จากปัญหาที่เกิดขึ้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีแพทย์จบใหม่ลาออก ส่งผลเกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุขว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว. สาธารณสุข ได้รายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้มีการติดต่อสอบถามไปยังกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่จำกัดในการบรรจุข้าราชการทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้งบประมาณบรรจุไปแล้วประมาณ 4 หมื่นคน แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะมีข้าราชการหลายระดับ ไม่ใช่เฉพาะแพทย์ ซึ่งต้องติดตามดู โดยทางกระทรวงสาธารณสุขรับเรื่องไปแล้ว