เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 พ.ค.2566 ที่โรงแรมโอกุระ เพรสทีจ ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ พรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นัดพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (พท.), พรรคเสรีรวมไทย (สร.), พรรคประชาชาติ (ปช.), พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.), พรรคเป็นธรรม, พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และ พรรคพลังสังคมใหม่ แถลงข่าวเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐ (CNN) เป็นเจ้าแรกหลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป โดยย้ำว่า นโยบายหลักในการทำงานของเขา 3 ประการ คือการที่เขาจะทำงานเพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่ปลอดทหาร ยุติการผูกขาด และมุ่งกระจายอำนาจ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แนวทาง 3 ด้านนี้เป็นหนทางเดียวที่เราจะทำให้ไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และจะทำให้แน่ใจว่าประเทศไทยจะกลับมาทำงานได้ตามปกติอีกครั้ง ประเทศไทยจะต้องกลับไปสู่เวทีโลก และต้องทำให้แน่ใจว่าไทยมีส่วนสนับสนุนแต่ยังได้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ พรรคก้าวไกลได้เสนอการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสถาบัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางทหาร ตั้งแต่การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การปรับลดงบประมาณ ทำให้กองทัพมีความโปร่งใสและรับผิดชอบมากขึ้น และลดจำนวนนายพลในกองทัพลง
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ความสำเร็จของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งมีคนไทยออกไปใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นว่านโยบายเหล่านี้ไม่เพียงแต่โดนใจคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนทั้งสังคมด้วย ซึ่งนั่นค่อนข้างน่าตื่นเต้น “ชัดเจนว่าผู้คนเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย มันชัดเจนมากว่าความรู้สึกของยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว และเราได้พัฒนาฉันทามติสำหรับวันใหม่ขึ้น” และ เขากำลังเจรจากับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม และได้เสียงข้างมากเพียงพอในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ดีเมื่อมีการตั้งข้อสังเกตถึงการออกเสียงของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายรัฐมนตรี พิธากล่าวว่า ส.ว.ไม่ได้สามัคคีกันเหมือนเมื่อ 4 ปีก่อน ที่พวกเขาโหวตเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมตรีโดยมติเอกฉันท์ และพวกเขายังต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในความเห็นของสาธารณะที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2562 “หากเรายังคงสื่อสารและอธิบายสิ่งที่เรากำลังพยายามทำเพื่อประเทศ และเรามีความหมายต่ออนาคตของประเทศนี้มากเพียงใด ผมคิดว่านั่นไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ และราคาที่ต้องจ่ายกับการต่อต้าน 25 ล้านเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียงในไทยมันหนักหนาสาหัสมาก”
เมื่อถูกถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากกองทัพจะพยายามล้มล้างผลการเลือกตั้ง พิธากล่าวว่า เราต้องลดความเสี่ยงของการโดนโค่นล้ม แต่เขาก็พร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ เขาไม่กังวลแต่ก็ไม่ประมาท เขาอยู่ในแวดวงการเมืองไทยมา 20 ปีแล้ว และเห็นถึงความโหดร้ายของมัน อีกทั้งเขายังมีทีมงานที่แข็งแกร่งอยู่รอบตัว เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่ตกเป็นเป้าได้ง่ายๆ “ผมถูกโจมตีทั้งในเรื่องอาชีพและเรื่องส่วนตัว แต่ผมได้เตรียมการเพื่อชี้แจงและอธิบาย และทำให้แน่ใจว่าผมมีพื้นฐานทางกฎหมายที่แข็งแกร่งพอที่จะจัดการกับทุกสิ่งที่เข้ามา”