กากแร่แคดเมียมภัยใกล้ตัวกับสุขภาพคนไทย ใครรับผิดชอบ
กากแร่แคดเมียมจำนวน 15,000 ตัน ซึ่งถูกตรวจสอบพบว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ตาก ได้ขายกากแร่ที่ถูกฝังกลบให้กับบริษัทใน จ.สมุทรสาคร จากการขยายผลล่าสุด พบกากแร่แคดเมียมในโรงงานหลอมโลหะและโกดังรวมอย่างน้อย 5 จุด ใน จ.สมุทรสาคร และ จ.ชลบุรี โดยล่าสุดพบที่โรงงานโลหะ-รีไซเคิลที่เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งลงพื้นที่ร่วมกับอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และเขตบางซื่อ เปิดเผยว่าได้มีการหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อมูลว่ามีโรงเคลือบโลหะ 154 แห่ง โรงหลอมโลหะ 98 แห่ง จึงได้ออกคำสั่งให้ตรวจทั้งหมด ส่วนจุดที่มาตรวจวันนี้เป็นที่เก็บวัสดุเก่า ซึ่งได้ออกคำสั่งให้ตรวจเพิ่มเติมในแหล่งเก็บวัสดุเก่าเป็นการเร่งด่วนด้วย
จากการตรวจค้น ตำรวจ ปทส. ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อเจ้าของบริษัทฯ ฐานมีไว้ซึ่งสารอันตรายต้องห้าม พร้อมอายัดไว้เป็นหลักฐานทั้งหมด ขณะที่ระหว่างการตรวจค้นพบว่าเจ้าของโรงงานแห่งนี้ มีความเชื่อมโยงกับหุ้นส่วนของบริษัท เจ แอนด์ บี สถานที่แห่งแรกที่พบกากแคดเมียมใน จ.สมุทรสาคร
บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน)หรือ BEYOND แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯวานนี้ (10 เม.ย.) ว่า ตามที่บริษัทฯชี้แจงเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ถึงกระแสข่าวว่ามีการขนย้ายกากแคดเมียมมาจากที่ดินของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดตาก นั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในบรรดานักลงทุน และประชาชนทั่วไป บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า บริษัทฯ เป็น เพียงคู่สัญญากับเจแอนด์บีตามสัญญาซื้อขายกากแคดเมียม ฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เท่านั้น โดยบริษัทฯ ไม่ได้มี ส่วนร่วมกับการประกอบกิจการของเจแอนด์บีแต่อย่างใด และกระแสข่าวมิได้สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันของบริษัทฯ
โดยบริษัทฯ ตระหนักถึงความกังวลของสาธารณชน ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ จึงมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมยุติหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อ คลายความกังวลของสาธารณชน ซึ่งบริษัทฯ จะจัดให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาซื้อขายกากแคดเมียมดังกล่าวในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการยุติหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยหากมีความคืบหน้าจะแจ้งเพิ่มเติม
บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน)หรือ BEYOND อดีตคือบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเคยเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่และโรงถลุงแร่สังกะสีที่ จ. ตาก
และเมื่อวันที่ 9 เม.ย.67 มูลนิธิบูรณะนิเวศแถลง กรณีกากแคดเมียม ระบุ “กากแคดเมียม: แค่ปิดโรงงาน/ปิดพื้นที่/ขนย้าย เรื่องไม่จบ ถึงเวลาแก้ปัญหาแบบใช้ปัญญา” โดยตั้ง 6 ข้อสังเกตหลัก ๆได้แก่
1. เหตุใดจึงต้องขุดและขนกากแคดเมียมที่กำจัดแล้วออกจากหลุมฝังกลบ จ. ตาก มายัง จ. สมุทรสาคร
-ไม่ว่าใครจะชี้แจงอย่างไร แต่เป็นที่ชัดเจนว่า กากแคดเมียมนี้ไม่ใช่กากที่ต้องการการกำจัดหรือบำบัดเพราะได้ผ่านขั้นตอนนั้นไปแล้ว โดยเป็นกากที่ถูกจัดการด้วยการใส่ลงไปในหลุมฝังกลบเรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่โรงงานของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ที่ จ. ตาก ซึ่งมีพื้นที่กว่า 2,500 ไร่ โรงงานแห่งนี้ประกอบกิจการผลิตแร่สังกะสีและแคดเมียม สังกะสีแท่ง สังกะสีอัลลอยด์ และโลหะแคดเมียม คือเป็นโรงงานทำเหมืองและถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียมโดยตรง ดังนั้น หมายความว่าโรงงานแห่งนี้เองเป็นผู้ก่อให้เกิดกากอันตรายดังกล่าว และย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรับผิดชอบบำบัดจัดการและกำจัดกากเหล่านั้น ซึ่งตามรายงาน EIA ระบุให้ฝังกลบในพื้นที่ และที่ผ่านมา โรงงานก็ได้ทำตามมาตรการดังกล่าว คือฝังกลบไปเรียบร้อยแล้ว
. “สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของการกระทำที่ไม่ปกติอย่างยิ่ง เพราะเป็นการลุกขึ้นมาเปิดหลุมฝังกลบที่ปิดไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน (ตามข้อมูลที่ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศได้ทราบมา มีการอนุญาตจาก กพร. ให้ปิดหลุมฝังกลบกากแคดเมียมบ่อที่ 7 ตั้งแต่เมื่อกลางปี 2561) แล้วดึงเอากากอันตรายเหล่านั้นขึ้นมา จากนั้นยอมลงทุนขนส่งออกไปยังผู้ประกอบการรายอื่น ใน จังหวัด ที่ห่างไกลหลายร้อยกิโลเมตรประเด็นคำถามสำคัญ การกระทำเช่นนี้มีสาเหตุหรือแรงจูงใจจากอะไร “นี่เป็นเรื่องของความโลภโดยแท้ใช่หรือไม่” และเรียกร้องหน่วยงานรัฐทำความจริงให้ปรากฏ
2. กากแคดเมียมที่โผล่เป็นข่าวขึ้นมาที่สมุทรสาครต้นเดือนเมษายนนี้ แท้จริงมีการขนกันออกมาจาก จ. ตากตั้งแต่เมื่อกลางปี 2566 ขนย้ายกากแคดเมียมชุดแรกตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 และดำเนินการขนย้ายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน ส่วนการขนเที่ยวสุดท้ายคือวันที่ 8 มกราคม 2567 รวมเป็นปริมาณกากที่นำออก 13,832.10 ตัน
3. โรงงานที่สมุทรสาครไม่มีศักยภาพจัดการกากแคดเมียมให้ปลอดภัยได้
โรงงานของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จ. สมุทรสาคร ถูกเปิดว่าเป็นจุดที่พบกากแคดเมียม โรงงานแห่งนี้เป็นโรงหลอมโลหะมานานประมาณ 30 ปีแล้ว มีใบอนุญาตประกอบกิจการอุตสาหกรรม 3 ใบ ใบแรกได้รับเมื่อปี 2537, ใบที่สองปี 2557 และใบที่สาม เพิ่งได้รับเมื่อปี 2566 ซึ่งเป็นเพียงใบเดียวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกากแคดเมียมนี้ เนื่องจากเป็นใบอนุญาตโรงงานประเภทที่ 60 สามารถประกอบกิจการหลอมสังกะสีและแคดเมียม ส่วนสองใบที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นทำได้เพียงการหลอมอะลูมิเนียม
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีใบอนุญาตให้เป็นโรงงานประเภทที่หลอมสังกะสีและแคดเมียมได้ แต่จากการตรวจสอบของมูลนิธิบูรณะนิเวศ พบว่า จนกระทั่งถึงวันที่ 4 มีนาคม 2567 นี้ โรงงานเจ แอนด์ บี เมททอลยังไม่เคยแจ้งขออนุญาตประกอบกิจการในส่วนของใบอนุญาตโรงงานประเภทที่ 60 ใบหลังสุดนี้ แต่อย่างใด นั่นหมายความว่า ในทางกฎหมายแล้ว โรงงานยังไม่สามารถดำเนินการอะไรกับกากแคดเมียมที่ไปรับมาจากเบาด์ แอนด์ บียอนด์ได้ ส่วนศักยภาพในเชิงเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากเป็นเรื่องที่จะถูกตรวจสอบก็ต่อเมื่อมีการแจ้งขออนุญาตประกอบกิจการ
4. บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ไม่มีศักยภาพรองรับกากแคดเมียมทั้งหมดได้ จึงเกิดการกระจายต่อไปโรงงานอื่น และยังคงหายไปเกือบ 6,000 ตัน แรกสุดที่มีการเปิดข่าวการพบกากแคดเมียมที่โรงงานเจ แอนด์ บี เมททอล มีการให้ข้อมูลว่า ปริมาณกากมีมากถึง 1.5 หมื่นตัน แต่ต่อมาถูกพบโดยคณะส่วนราชการที่ลงพื้นที่ซึ่งนำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ปริมาณมีเพียง 2,400 ตันเศษ ทำให้เกิดกิจกรรมไล่ล่าหากากแคดเมียมตามมา โดยพบแห่งแรกที่โรงงานรีไซเคิลเถื่อน ต. คลองกิ่ว จ. ชลบุรี จากนั้นพบในโรงงานอีกแห่งหนึ่งของ ต.บางน้ำจืด ปริมาณที่พบที่คลองกิ่วมีการแจ้งตัวเลขระหว่าง 3,000 – 7,000 ตัน โดยล่าสุดอยู่ที่ 4,400 ตัน ส่วนที่บางน้ำจืดคนละจุดกับแห่งแรก พบ 1,034 ตันเมื่อรวมกันที่ยอดสูงสุดแล้วจึงยังเท่ากับมีส่วนที่หายไปอีกกว่า 5,900 ตัน และตามที่มีกระแสข่าวบางส่วนว่าอาจมีการหลอมไปบ้างแล้วทั้งที่คลองกิ่วและสมุทรสาคร จะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ หรืออาจจะยังมีเล็ดลอดอยู่ในพื้นที่อื่นๆ อีกหรือไม่
ประเด็นสำคัญที่สุดท่ามกลางการมีกฎหมายและกลไกควบคุมการขนส่งกากอุตสาหกรรมที่รัดกุมและดีเลิศ ตามที่รัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมักกล่าวอ้าง กากแคดเมียมซึ่งเป็นสิ่งมีพิษภัยร้ายแรงถูกขนส่งกระจายไปยังหลายพื้นที่โดยระบบไม่อาจรับทราบและไม่อาจติดตามได้อย่างไร
5. ในฐานะผู้ก่อมลพิษ บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นตัวการสำคัญในความผิดเรื่องนี้ จึงไม่ควรถูกปล่อยให้หายไปหรือลอยตัวจากสมการการแก้ปัญหาเรื่องกากแคดเมียม
มูลนิธิบูรณะนิเวศขอเสนอหลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ว่าจะต้องอยู่บนหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบ (polluter pays principle) และต้องยึดถือความปลอดภัยของประชาชนเป็นความสำคัญสูงสุด ดังนั้น ในฐานะที่บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือเดิมคือบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของผู้ก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรมอันตรายนี้ขึ้นมา จึงควรต้องเป็นผู้เข้ามารับผิดชอบต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในความหมายที่ว่าต้องเป็นผู้จ่ายต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้
6. ทั้งหมดนี้สะท้อนความล้มเหลวของระบบบริหาร-จัดการกากอุตสาหกรรม โดยสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในกรณีแคดเมียมทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ระบบได้อนุญาตให้เกิด “กากซอมบี้” ขึ้นมา และถูกขนย้ายข้ามพื้นที่หลายจังหวัดมายังปลายทางได้อย่างง่ายดายและไร้มาตรการควบคุมดูแล เมื่อมาถึงปลายทางตามที่แจ้งไว้ในระบบแล้ว ก็สามารถมีการกระจายขายต่อโดยหน่วยงานกำกับดูแลไม่รับทราบ เมื่อกากอันตรายหายไปจากระบบก็ไม่สามารถติดตามได้อย่างเป็นระบบ นอกจากช่องโหว่ ยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งมิติความเข้มงวดและความจริงจัง
จากประเด็นหลัก 6 ประการนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศขอเสนอและเรียกร้องต่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย ใน 2 มิติ ดังนี้ มิติที่ 1 เกี่ยวกับกรณีกากแคดเมียมของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 13,832.10 ตัน ให้ดำเนินการตามลำดับความเร่งด่วน ดังนี้
1. สนับสนุนการติดตามตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนและครบถ้วนว่า กากแคดเมียมทั้งหมดนั้น กระจายไปอยู่ในพื้นที่ใด เท่าไร ในสภาพใด
2. ตรวจสอบกระบวนการดำเนินการที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทาง ทั้งในประเด็นความชอบด้วยกฎหมาย ปฏิบัติการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และการละเว้นหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงช่องโหว่หรือจุดผิดพลาดที่เกิดขึ้น และการคอร์รัปชัน
3. ให้เปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา ส่วนภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด โดยครอบคลุมถึงส่วนที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ด้วย
มิติที่ 2 เกี่ยวกับระบบและนโยบายการกำกับดูแลอุตสาหกรรมและกากอุตสาหกรรมในภาพรวม
1. ทบทวนการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ.
2. ปรับปรุงระบบการควบคุมมลพิษและการรักษาสภาพแวดล้อม ยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษ และ EIA/EHIA ก่อนไปมุ่งสู่ Green Mining Green Recycling และ BCG สนับสนุนกฎหมาย PRTR (ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ. …)
สำรวจและขึ้นทะเบียนพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษที่เสียหายจากกิจการฝังกลบ การหล่อหลอม และการรีไซเคิลของเสียอันตราย
3. ทบทวนภาครวมทั้งหมด โดยภาครัฐควรยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 และอื่นๆ เพื่อให้มาตรการด้านผังเมืองและการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมีการบังคับใช้โดยไม่มีข้อยกเว้น ปรับปรุงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อนกันของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริม-การอนุญาตการลงทุนอุตสาหกรรม
การเกิดปัญหาการแพร่กระจายของสารพิษแคดเมียมดังกล่าว รัฐบาลจะปล่อยให้เป็นหน้าที่การจัดการปัญหาโดยหน่วยงานในจังหวัดและท้องถิ่นแก้ปัญหา เรามีกฎหมายที่บัญญัติมาตรการไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่ยอมนำมาใช้