ที่ดินเขากระโดง อธิบดีกรมที่ดิน‘ ยันไม่เพิกถอนสิทธิ์ หลัง รฟท.คัดค้าน
กรณีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่า จะให้การรถไฟฯ ยื่นคัดค้านกรณีที่กรมที่ดิน ไม่เพิกถอนสิทธิ์ ที่ดินเขากระโดง ว่า ทุกอย่างดำเนินการไปตามที่ศาลปกครองสั่ง และในเรื่องการเพิกถอน ต้องมีคณะกรรมการ ในการดำเนินการเพิกถอนตามมาตรา 61 โดยที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว ส่วนการรังวัดจากที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการ ซึ่งทำตามกระบวนการขั้นตอนเรียบร้อยหมดทุกอย่าง
ทางด้านนายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำหนังสือถึง ผู้ว่าการ รฟท. แจ้งเรื่องการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท. นั้น
กรมที่ดิน เผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงประเด็นที่ดิน ‘เขากระโดง’ โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง นั้น กรมที่ดิน ขอเรียนชี้แจงในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2566
ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการ ให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ซึ่งอธิบดีกรมที่ดิน (นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีซึ่งอธิบดีมอบหมาย) ได้มีคำสั่งที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่่ดิน เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าวแล้ว โดยที่ศาลปกครองกลางมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์บริเวณเขากระโดงแต่อย่างใด
2.ประเด็นการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
การตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 61 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณา เพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553 หมวด 1 การตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการสอบสวน ข้อ 2 ซึ่งประกอบด้วย
(1) เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่่ดินจังหวัด สาขาหรือข้าราชการสังกัดกรมที่ดินที่อธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจจราชการกรมที่ดิน เห็นสมควร เป็นประธานกรรมการ
(2) นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอซึ่งที่ดินตั้งอยู่ เป็นกรรมการ
(3) ตัวแทนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ เป็นกรรมการ
(4) ผู้แทนส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร เป็นกรรมการ
(5) ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปตั้งแต่ระดับชำนาญงานขึ้นไปหรือข้าราชการ ซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการตั้งแต่ระดับชำนาญการขึ้นไปในสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัด สาขา เป็นกรรมการและเลขานุการ ดังนั้น การตั้งคณะกรรมการสอบสวนจึงเป็นการตั้งตามตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายได้บัญญัติไว้
3.ประเด็นการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน
คณะกรรมการสอบสวนมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553 หมวด 1การตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการสอบสวน ข้อ 3 และ ข้อ 4 ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ต้องดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานให้ได้ความว่า ได้มีการออกโฉนดที่่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีการนัดสอบสวน การนัดพิจารณาหรือการอย่างอื่นพร้อมทั้งต้องแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทราบเป็นหนังสือด้วย และมีอำนาจเรียกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง จากผู้ยึดถือมาประการพิจารณา พร้อมทั้งแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทราบเพื่อให้โอกาสคัดค้าน เมื่อดำเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว คณะกรรมการสอบสวนมีหน้าที่รายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย โดยจะต้องสรุปข้อเท็จจริงและเหตุที่มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งมีหน้าที่เสนอความเห็นต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายว่าสมควรสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร
อีกทั้งมีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมในกรณีที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเห็นสมควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม ตามนัยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการ จดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553 ข้อ 7
4.ประเด็นที่กรมที่ดินพิจารณายุติเรื่อง
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553 หมวด 3 การสั่งเพิกถอนหรือแก้ไข ข้อ 12 ได้บัญญัติเงื่อนไขของการที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีบดีมอบหมายจะพิจารณาสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นได้ ต่อเมื่อปรากฏชัดแจ้งว่าได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว ปรากฏว่า แผนที่ที่การรถไฟฯกล่าวอ้างซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุม กบร. จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2539 โดยผู้ฟ้องคดีนำแผนที่ดังกล่าว ไปใช้ในการต่อสู้คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 และ ที่ 8027/2561 จึงไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช 2464 ประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งและขอบเขตของที่ดินการรถไฟ ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่ามีระยะทาง 8 กิโลเมตร งานผลการถ่ายทอดแนวเขตที่ดินการรถไฟฯ ของคณะทำงานดำเนินการถ่ายทอดแนวเขตที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 681/2566 ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบทางรถไฟโดยใช้วิธีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2497, พ.ศ.2511, พ.ศ.2529 และ พ.ศ.2557 ปรากฏว่าทางรถไฟมีระยะทางประมาณ 6.2 กิโลเมตร และ ได้ลงสำรวจเส้นทางรถไฟในพื้นที่จริง ด้วยการรังวัดค่าพิกัดด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจลน์ (RTK) สามารถยืนยันตำแหน่งทางรถไฟที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศว่า ตรงกับตำแหน่งรางรถไฟบนที่ดินจริง ประกอบกับการตรวจสอบจากแผนที่ภูมิประเทศ ลำดับชุดที่ L708 ซึ่งเป็นแผนที่ภูมิประเทศชุดแรก ในประเทศไทยจัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร (ในช่วง ปี พ.ศ.2495-2500) มีความยาวของทางรถไฟประมาณ 6.2 กิโลเมตร เช่นกัน
โดยมีข้อสังเกตที่สำคัญจากการดำเนินการของคณะทำงานดังกล่าวคือ จุดสิ้นสุดรางรถไฟในแต่ละชั้นปีที่ดำเนินการถ่ายทอดมีระยะสิ้นสุดไม่เท่ากัน และมีความแตกต่างกันในช่วงปลายตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 6 ถึงจุดสิ้นสุด มีทิศทางที่แตกต่างกัน โดยหากพิจารณาจากรางรถไฟจริง จุดสิ้นสุดของกิโลเมตรที่ 8 จะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก และความกว้างของแนวเขตทางรถไฟ
จากการตรวจสอบข้อมูลของคณะทำงานศึกษา แสวงหาหลักฐานและบูรณาการข้อมูลประวัติที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 91/2567 ลงวันที่ 18 มกราคม 2567 ที่ได้ศึกษาค้นคว้าเทียบเคียงจากพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง และจากหนังสือกระทรวงโยธาธิการ ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 127 สันนิษฐานได้ว่าการกำหนดเขตสร้างทางรถไฟจะมีการกำหนดไว้เพียงระยะข้างละไม่เกิน 40 เมตร หรือ 20 วา
สำหรับกรณีที่ศาลปกครองกลางตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถร่วมกับการรถไฟฯ เพื่อตรวจสอบแนวเขตรถไฟตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางได้ เนื่องจากเป็นการร่วมกับคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครอง ทำให้สูญเสียความเป็นกลางและมีผลทำให้ความเห็นหรือมติของคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้วเห็นว่า เป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นคำคัดค้านพยานหลักฐานของผู้มีส่วนได้เสียแล้วเห็นว่า รับฟังได้
คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงมีมติยืนยันความเห็นว่าไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ ยกเว้นในบริเวณที่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า มีการเข้าใช้ประโยชน์ โดยมีการสร้างทางรถไฟ ซึ่งจะต้องไม่เกินข้างละ 20 วา หรือ 40 เมตร โดยการรถไฟฯ จะต้องเป็นผู้นำพิสูจน์การเข้าทำประโยชน์
ดังนั้น เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเห็นว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัยข้อ 12 ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553 อธิบดีจึงได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯ เสนอยุติเรื่องในกรณีนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่ได้เสนอมา พร้อมทั้งแจ้งให้การรถไฟทราบว่า หากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป
5.ประเด็นการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนและกรมที่่ดินขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาฎีกาและศาลอุทธรณ์หรือไม่
ประเด็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ เป็นกรณีพิพาทของการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเอกชน ซึ่งกรมที่ดินไม่มีโอกาสได้เข้าไปเป็นคู่ความต่อสู้ในคดี และนำเสนอพยานหลักฐาน อันเป็นสาระสำคัญซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีไปแสดงต่อศาลได้ สำหรับรูปแผนที่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ฟ้องคดี) อ้างสิทธิ นั้น จากการตรวจสอบพบว่าได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2531 และปี พ.ศ.2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัด ซึ่งได้จัดทำขึ้นภายหลังที่ได้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินไปแล้ว โดยการรถไฟฯ ได้นำแผนที่นี้ไปใช้ประกอบการต่อสู้ในคดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งแผนที่นี้ไม่ไม่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินฯ แต่อย่างใดประกอบกับการดำเนินการคณะกรรมการสอบสวนฯ และกรมที่ดิน เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล ปกครองกลาง และตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553 บัญญัติไว้ จึงเห็นว่ามิได้ขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๑๐ น. ที่รัฐสภา นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงกรณีการอภิปรายของนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดนราธิวาส พรรคประชาชาติ เกี่ยวกับกรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินข้อพิพาทที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนบริเวณพื้นที่เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้วางกรอบการดำเนินการและการบริหารที่ดินของการรถไฟฯ โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งองค์กร ประชาชน และประเทศชาติ ที่ดินของการรถไฟฯ มีจำนวนทั้งสิ้น ๒๔๕,๘๐๗.๙๗ ไร่ มีที่มาของกรรมสิทธิ์ที่ดินจาก ๖ ช่องทาง คือ การได้มาโดยพระบรมราชโองการ การเวนคืน การจัดซื้อ การรับมอบจากประชาชน การจับจอง และการแลกเปลี่ยนพื้นที่โดยรวมของการรถไฟฯ ทั้งหมดทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทหลักๆ ได้แก่ ๑. พื้นที่ใช้ในการเดินรถในปัจจุบัน ๑๙๐,๖๐๖.๙๗ ไร่ อาทิ พื้นที่ย่านสถานี พื้นที่บ้านพักและที่ทำการ พื้นที่เขตทางรถไฟ พื้นที่โรงรถจักร โรงซ่อมบำรุง ๒. พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเดินรถในปัจจุบัน ๕๕,๒๐๑ ไร่ แบ่งออกเป็น พื้นที่ที่นำมาจัดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้นำออกจัดประโยชน์แล้ว ๕,๒๐๕ ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการ ๔๙,๙๙๖ ไร่ และพื้นที่ที่ยังไม่สามารถนำมาจัดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ แบ่งออกเป็น
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
๑) ที่ดินที่มีการบุกรุก มีผู้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินของการรถไฟฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน ๑๘,๘๒๒ ราย ประกอบด้วย พื้นที่ในเขตกรุงเทพปริมณฑล ๑,๕๓๘ ราย พื้นที่ในเขต ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ๙๑๑ ราย นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียง ๓,๐๔๕ ราย นครสวรรค์ พิษณุโลก จังหวัดใกล้เคียง ๘๖๙ ราย และพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ ๑๒,๔๕๙ ราย
๒) ที่ดินที่มีข้อพิพาท ซึ่งมีการออกเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่ที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ เช่น พื้นที่บริเวณพังงา-ท่านุ่น จ.พังงา พื้นที่บริเวณอรัญประเทศ จ. สระแก้ว พื้นที่บริเวณบ้านโพธิ์มูล จ.อุบลราชธานี พื้นที่บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น
สำหรับที่ดินที่มีข้อพิพาทนี้ การรถไฟฯ ได้ยึดแนวทางในการดำเนินการทุกขั้นตอนบนหลักการว่า ประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการ และอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต โดยจะต้องมีการดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ อาจเกิดจากกระบวนการสำรวจและออกเอกสารสิทธิ์ที่คลาดเคลื่อนในอดีตทำให้เกิดกรณีของการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อน ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของการพิสูจน์สิทธิ์และขั้นตอนของกฎหมายมาโดยตลอด
ในส่วนของการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินทั่วประเทศของการรถไฟฯ กระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งในด้านการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินทั่วประเทศ การรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ๑) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ โดยการเจรจาให้ผู้บุกรุกเข้าทำสัญญาเช่า ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ อีกทางหนึ่งด้วย และ ๒) การจัดตั้งบริษัทลูกบริหารทรัพย์สิน ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการโดยตรงอย่างมืออาชีพ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ในการบริหารที่ดินให้กับ รฟท.
สำหรับปัญหาที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง แบ่งออกเป็น ๒ กรณี ดังนี้ ๑) ปัญหาการบุกรุกที่ดินบริเวณเขากระโดง มีปัญหามาอย่างยาวนาน มีผู้บุกรุก จำนวนประมาณ ๘๓ ราย ที่ผ่านมา รฟท. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกตามขั้นตอนภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ๒) ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง มีปัญหามีมาอย่างยาวนาน และมีความสลับซับซ้อน เกิดขึ้นจากกระบวนการสำรวจ การออกเอกสารสิทธิ์ที่คลาดเคลื่อน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้เสาะหาข้อเท็จจริง และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายมาโดยตลอด โดยล่าสุดเมื่อต้นปี ๒๕๖๔ การรถไฟฯ ได้ดำเนินการสำรวจที่ดินบริเวณเขากระโดงโดยไม่ได้มีการสำรวจที่ดินของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นการเฉพาะ พบว่า มีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยหน่วยงานราชการประมาณ ๙๐๐ ราย แบ่งเป็น โฉนดที่ดิน จำนวน ๗๐๐ ราย ที่มีการครอบครอง (ท.ค.) จำนวน ๑๙ ราย, น.ส.๓ก. จำนวน ๗ ราย, หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) จำนวน ๑ ราย, ทางสาธารณประโยชน์ จำนวน ๕๓ แปลง และอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏเลขที่ดินในระวางแผนที่อีก จำนวน ๑๒๙ แปลง
การรถไฟฯ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาที่ดินที่มีข้อพิพาทที่มีการออกเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่ที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ โดยยึดหลักการที่ว่า “ประชาชนถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการ และอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว เป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต” ดังนี้
การดำเนินการกรณีประชาชนฟ้องการรถไฟฯ ซึ่งประชาชน ได้ฟ้อง รฟท. โดยอ้างสิทธิ์ตาม ส.ค.๑ และ นส.๓ ก. และการรถไฟฯ ได้เข้าต่อสู้คดีตามขั้นตอนของกฎหมาย ศาลฎีกาในคดีเหล่านั้นเชื่อข้อเท็จจริงตามแผนที่ที่นำเสนอโดยการรถไฟฯ ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดในแต่ละคดีแล้ว อย่างไรก็ดีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี โดยไม่ผูกพันบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คู่ความตามคดีนั้นๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๕
ในขณะที่การดำเนินการกรณีไม่มีข้อพิพาทในศาลนั้น การรถไฟฯ ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อหาข้อยุติในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบนที่ดินบริเวณเขากระโดง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอให้กรมที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ราษฎรและให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพิจารณาทบทวนการใช้อำนาจดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ การรถไฟฯ ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขอให้กรมที่ดินดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ หากถามว่า ทำไมไม่ฟ้องประชาชนตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งตามคำวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นกรณีที่กรมที่ดินได้มีหนังสือหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่แจ้งให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ ซึ่งการรถไฟฯ ไม่ทราบว่ากรมที่ดินได้หารือประเด็นใดรวมถึงการจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดเพียงใด อย่างไรก็ดีการรถไฟฯ ได้นำคำวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดมาพิจารณาในการดำเนินการแล้วเห็นว่า การที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับบนที่ดินที่สันนิษฐานว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ เป็นกรณีที่ประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการและอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว เป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต การรถไฟฯ จึงไม่มีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยทางราชการ แต่จะดำเนินการโดยมุ่งเน้นพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อกรมที่ดินเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ราษฎรและให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น และมีข้อเท็จจริงปรากฏตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น ทำให้การรถไฟฯ เชื่อได้ว่าการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่บริเวณเขากระโดงโดยความคลาดเคลื่อนเกิดจากเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งเป็นพนักงาน เจ้าหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดินตามกฎหมายย่อมต้องทราบถึงการมีอยู่ของที่ดินดังกล่าว หากได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การรถไฟฯ จึงยืนยันขอให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่โดยพิจารณาการเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ ต่อไป
การรถไฟฯ ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมาย ด้วยความ โปร่งใส เป็นธรรม ทั่วถึง และไม่เลือกปฏิบัติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมากที่สุด บนหลักการของ รฟท. ซึ่งตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานว่า “ประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการและอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว เป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต” การรถไฟฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ ในนาม บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งจะลงนามสัญญาบริหาร กระบวนการทางด้านกฎหมาย การส่งมอบพื้นที่ พิจารณาแผนธุรกิจ แนวทางบริหารจัดการทรัพย์สิน และการจัดเก็บระบบฐานข้อมูลดิจิทัลที่ครบถ้วน ถูกต้อง และทันสมัย จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ ที่มีอยู่ เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุก การออกเอกสารสิทธิ์ รวมถึงสามารถนำที่ดินมาจัดประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดให้กับองค์กร
กล่าวโดยสรุปคงต้องฝากประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินในที่ดินดังกล่าว